วันที่ 25 ส.ค. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยทยอยขนของ ออกจากห้องทำงานของรองนายกรัฐมนตรี ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ช่วยรวมถึงคณะทำงานของตนก็ได้ทยอยขนของ ออกเช่นเดียวกันในช่วงบ่ายที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวถามว่าเก็บของแบบนี้แล้ว ไปแน่นอนใช่ไหม วิษณุ กล่าวว่า "อ้าว ไปสิครับ ไปแน่นอน แต่ขนยังไม่หมด ต้องขนอีกหลายรอบ"
เมื่อถูกถามว่า หลังจากนี้จะทำอะไร วิษณุ บอกว่า 1.อยู่บ้านพักผ่อน ข้อที่ 2 เล่นกับหลาน ด้วยความสุขมาก ส่วนตัวเคยเว้นแบบนี้มาแล้วหนนึง แต่ตอนนั้นไม่ได้มีความสุขเท่านี้ เพราะไม่มีหลาน ข้อที่ 3.เขียนหนังสือ สอนหนังสือ และข้อที่ 4 อาจเข้าไปเป็นประธาน กรรมการบริษัทต่างๆ เพื่อจะมีรายได้พร้อมที่จะเป็น ขณะที่ตอนนี้ก็ยังเป็นกฤษฎีกาและราชบัณฑิตอยู่
เมื่อถามว่า แล้วงานทางการเมืองจบแล้วหรือยัง วิษณุ ตอบทันทีว่า "ไม่มี ไม่มีอะไรทำ จบแล้ว แต่ส่วนตัว ก็คิดแบบนี้ตั้งปี 2549 แต่อีก 8 ปีถัดมา ก็มีเหตุให้ตนกลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่มีเหตุให้กลับมาแล้ว เพราะตนเองมีปัญหาสุขภาพแทรกเข้ามาด้วย ใครมาชวนที่ไหนผมจะเปิดพุง ที่ต้องรักษาอาการป่วยจากการฟอกไตให้ดูทันที
ส่วนหลังจากที่มี รัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว จัดส่งมอบงานด้านกฎหมาย ให้หรือไม่นั้น วิษณุ ตอบว่า "ไม่มี แล้วผมจะส่งมอบให้ใคร ไม่รู้ว่าคณะรัฐมนตรีใหม่จะแถลงนโยบาย ในตอนนั้น ตนก็พ้นจากวาระไปแล้ว แถลงนโยบายเสร็จก็จะต้องประชุม ครม.ชุดใหม่ ซึ่งตอนนั้นตนเองก็จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว โดยการประชุม ครม. ก็จะเป็นการแบ่งงาน เพราะว่าการแบ่งงานก็เป็นการบริหารราชการแผ่นดินชนิดหนึ่ง ตอนนั้นก็คงไม่ได้อยู่มอบแล้ว พร้อมบอกว่า ไม่มีอะไรจะมอบแล้ว หลังจากนี้รองนายกฯใหม่ก็มาดูสถานที่ทำงาน เลือกเอาแล้วกันว่าจะเอาห้องไหน ส่วนรถหลวงหรือรถประจำตำแหน่ง ตนจะส่งมอบให้ในวันสุดท้ายหลังหมดวาระ ตอนนี้ยังไม่หมดวาระจึงขอใช้รถหลวงก่อน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ครั้งนี้จะเป็นการปิดประตูทางการเมืองเลยหรือไม่ รองนายกฯวิษณุ กล่าวว่า ใช่ครับ พร้อมแซวแซวผู้สื่อข่าวถามกลับ ว่า คุณจะเอาผมไปสาบานที่ไหน เดี๋ยวผมเปิดพุงโชว์ (ฟอกไต) เพราะที่ผ่านมาเคยมีคนมาทาบทานโดยพูดทีเล่นทีจริง ตนก็ได้ชี้แจงเรื่องสุขภาพและได้เปิดเรื่องพุงโชว์ไปแล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวได้ถามย้ำว่า คนที่มาชวน ใช่ "เพื่อไทย" หรือไม่ วิษณุ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าวโดยบอกเองว่า เป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจ
วิษณุ อธิบายถึงโครงสร้างรัฐสภา จะไม่มีผู้นำฝ่ายค้านได้หรือไม่ เนื่องจาก ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 จะไม่ลาออกจากตำแหน่ง ว่า สามารถทำได้ ซึ่งหากพรรคก้าวไกล ไม่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ก็จะตกไปเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งการขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพรรคอันดับหนึ่งหรืออันดับสอง เพราะตามกฎหมายไม่ได้มีข้อบังคับเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ว่าผู้นำฝ่ายค้านจะต้องมีจำนวน สส. เท่าไหร่ ซึ่งขณะนี้พรรคที่จะขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านจะมี สส.อย่างน้อย 5-10 คนก็ได้
แต่มีข้อกำหนดว่า การจะเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ หัวหน้าพรรคนั้นนั้นจะต้องเป็น สส.ด้วย และ หากพรรคก้าวไกลไม่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่ ประดิพัทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง แต่หากพรรคก้าวไกล ต้องการรับตำแหน่งนี้ ประดิพัทธ์ ต้องลาออก
ทั้งนี้ วิษณุ ระบุด้วยว่า ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้มีอำนาจบารมีอะไรมาก แต่จะมีความสำคัญในบางเรื่อง เช่นการขอเปิดอภิปรายในรัฐสภา การอภิปรายในหัวข้อต่างๆที่สำคัญ อยู่ในส่วนขององค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ที่มีเหตุจำเป็นว่าผู้นำฝ่ายค้านจะต้องมีส่วนเข้าไปอยู่ในองค์กรนั้นนั้นด้วย และหากพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคที่ไม่ใช่ สส.จะไม่สามารถขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่จำเป็นต้องมีผู้นำฝ่ายค้านก็ได้ เพราะไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย แต่หากมีก็ถือว่าดี
ส่วนการยื่นขออภิปรายก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านสามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้านอย่างเดียว อีกทั้งการไม่มีผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่มีผลต่อองค์ประชุมรัฐสภา เพราะผู้นำฝ่ายค้านไม่นับเป็นองค์ประชุม
วิษณุ กล่าวถึงกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ จนมีการตั้งข้อสังเกตจะต้องรอให้จนกว่าการรักษาตัวหายหรือไม่ ว่า จะต้องฟังความเห็นจากแพทย์ผู้รักษา แต่ตนเองได้รับคำยืนยันมาแล้วว่า ขณะนี้ ทักษิณ ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และอาการยังทรงตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอาจจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตจนกระทบต่อร่างกายด้วย
เนื่องจากในอดีตตอนการรัฐประหาร 2557 ที่ คสช.เรียกนักการเมืองเข้ารายงานตัวในค่ายทหารจนโรคประจำตัว อย่างความดันกำเริบ เพราะเคยพักผ่อนในบ้านส่วนตัวสะดวกสบายมาก่อน จึงขอให้เห็นใจด้วย พร้อมระบุว่า การจะให้ย้ายไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ แล้ว เนื่องจากการย้ายตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ที่มีแพทย์เฉพาะทาง และสามารถส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกัน มีการจัดวางกำลังตำรวจคุมตัวแล้ว ซึ่งในกรณีของ ทักษิณ นี้ ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นาย มาควบคุมดูแลแล้ว
วิษณุ ยังเปิดเผยด้วยว่า สำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม ได้แจ้งโทษจำคุกที่ ทักษิณ ได้รับแล้ว รวม 8 ปี แต่ขั้นตอนระหว่างการพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจของ ทักษิณ นั้น ก็ยังสามารถทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษได้ เพราะยังถือว่า อยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในคดีใดบ้างนั้น ถือเป็นเรื่องของพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
วิษณุ กล่าวถึงกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการ เมื่อวานนี้ (25 ส.ค.) ว่า ในอดีตอาจไม่ปรากฏเหตุการณ์ลักษณะนี้ เพราะอาจจะไม่สะดวก หรือเขินอายกันบ้าง หรือมีการหาเสียงแข่งกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีคนเก่าหรือไม่ ซึ่งก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้สึกยินดีเช่นกัน
ส่วนช่วงเวลารอยต่อรัฐบาล ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หากเกิดกรณีฉุกเฉินจะดำเนินการอย่างไรได้นั้น วิษณุ ชี้แจงว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็สามารถตัดสินใจได้ แต่การจะบริหารราชการแผ่นดินได้สมบูรณ์นั้น จะต้องแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาก่อน เว้นแต่ จะมีกรณีจำเป็นเร่งด่วน คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็สามารถตัดสินใจได้ แต่การแต่งตั้งโยกย้าข้าราช ยังไม่สามารถดำเนินการได้
วิษณุ ยังคาดหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ จะช่วยเข้ามาผลักดันร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่ตกไปในรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรชุดก่อนหน้านี้ จนไม่สามารถพิจารณาได้เสร็จสิ้น และยังเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ที่ไม่สามารถประกาศใช้ได้ทัน ทำให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
พร้อมชี้แจงถึงร่างพระราชบัญญัติกัญญา-กัญชง และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตว่า ขณะนี้ ได้เป็นอันตกไปทั้งหมดแล้ว เนื่องจาก รัฐบาลชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ทันตามที่รัฐธรรมนูญญัตติว่า คณะรัฐมนตรี จะต้องร้องขอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีการเปิดประชุมสภาวันแรก หรือวันรัฐพิธีเปิดประชุมสภา ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 ส.ค.นี้ แต่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็ยังไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ อาจจะนำร่างกฎหมายเดิมที่คณะรัฐมนตรีชุดเก่าเห็นชอบแล้ว เสนอให้สภาฯ พิจารณาอีกครั้งได้
ส่วนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หากไม่ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดๆ จะมีงบประมาณ หรืออำนาจหน้าที่อย่างไรนั้น วิษณุ ชี้แจงว่า รองนายกรัฐมนตรี ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง จะได้รับเงินเดือนตำแหน่งเดียวที่มีค่าตอบแทนสูงสุด และการนับจำนวนรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี ก็จะนับเป็นจำนวนบุคคล ซึ่งตำแหน่งอาจจะมากกว่าบุคคลได้ เพราะรองนายกรัฐมนตรี อาจจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย และรองนายกรัฐมนตรี ก็จะมีอำนาจกำกับดูแลหน่วยงาน และงบประมาณในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้