ไม่พบผลการค้นหา
เขื่อนเก่าอายุกว่า 100 ปีจะถูกทำลายตามกฎหมายของสหภาพยุโรป เพื่อคืนเส้นทางน้ำและชีวภาพของแม่น้ำให้กับสัตว์น้ำต่างๆ ที่ผ่านมายุโรปทำลายเขื่อนไปแล้วกว่า 3,500 แห่ง แต่ก็ยังคงมีเขื่อนที่ใช้งานอยู่อีกกว่า 230,000 แห่งเช่นกัน

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมารัฐบาลท้องถิ่นของนอร์มังดีในประเทศฝรั่งเศศ ได้เริ่มดำเนินการรื้อถอน 'เขื่อนเวอแซงส์ ที่กั้น 'แม่น้ำเซลูน' ซึ่งนับว่าเป็นการทำลายเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ยุโรปนับตั้งแต่เริ่มมีการดำเนินการรื้อถอนเขื่อนในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ นอกจากเขื่อนเวอแซงส์แล้วยังมีเขื่อนลาโรชกีบัวต์ที่สร้างในแม่น้ำเซลูนเช่นกัน จะต้องถูกรื้อทำลายภายในปี 2021 โดยทั้ง 2 เขื่อนเป็นเขื่อนที่เก่าแก่และมีสภาพทรุดโทรม โดยมีการก่อสร้างมานานเกือบ 100 ปี

เขื่อน_ฝรั่งเศส.jpg

(เขื่อนเวอแซงส์ก่อนถูกทำลาย)

'เขื่อนลาโรชกีบัวต์และเขื่อนเวอแซงส์' เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีความสูง 15 เมตรและ 36 เมตรตามลำดับ โดยทั้งสองเขื่อนก่อสร้างในปี 1914 และ 1927 ซึ่งทั้งสองเขื่อนนี้ได้สร้างกั้นแม่น้ำเซลูน ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพสำคัญของประชากรปลาเเซลมอนแอตแลนติกและปลาไหล เพราะจะต้องว่ายน้ำไปวางไข่บริเวณเกาะมงต์แซงต์มิเชล (Mont St Michel)

โรเบอร์โต เอปเปิล ประธานเครือข่ายแม่น้ำยุโรปกล่าวว่า "การรื้อทำลายเขื่อนเวอแซงส์เป็นสัญญาณของการปฏิวัติทัศนคติที่ภูมิภาคยุโรปมีต่อแม่น้ำ เนื่องจากแทนที่จะมีการสร้างเขื่อนใหม่ขึ้นมา หลายประเทศกลับเลือกที่จะปรับปรุงคุณภาพของแม่น้ำและนำความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนสู่แม่น้ำ"

นับตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา การก่อสร้างเขื่อนเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้นได้รับความนิยมอย่างมากไปทั่วยุโรป เขื่อนขนาดเล็กได้ถูกสร้างขึ้นนับหมื่นแห่งในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงปี 1940 - 1970 ที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและเหล็ก ทำให้เขื่อนขนาดเล็กถูกสร้างขึ้นทั่วยุโรป

เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรปลาในแม่น้ำยุโรป โดยฉพาะ 'แซลมอน' หายไปจากแหล่งน้ำ เนื่องจากเขื่อนเป็นตัวขัดขวางเส้นทางการโยกย้ายและอพยพของประชากรเเซลมอน รวมไปถึงประชากรสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ถูกขวางกั้นเส้นทางการอพยพ

ในปี 2000 สหภาพยุโรปได้ร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำขึ้น บังคับใช้กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และด้วยข้อบังคับตามกฎหมายทรัพยากรน้ำของสหภาพยุโรป ภายใต้กรอบทรัพยากรน้ำ (WFD) ระบุให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในการฟื้นฟูแม่น้ำภายในประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานทางนิเวศวิทยาที่ดีภายในปี 2027 หรืออย่างน้อยที่สุดต้องทำลายเขื่อนเก่า หรือเขื่อนที่เสื่อมสภาพที่มีผลกระทบตามข้อตกลงภายใต้ WFD

นับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในปี 2000 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคยุโรปก็ได้เริ่มรื้อถอนเขื่อนขนาดเล็กต่างๆ ทำให้ปัจจุบันมีเขื่อนทั่วภูมิภาคยุโรปถูกทำลายแล้วกว่า 3,500 เขื่อน รวมไปถึงเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในสเปนที่ถูกรื้อถอนไปเมื่อปี 2018

ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังคงเดินหน้ามาตรการใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศเอสโตเนียจะทำลายเขื่อนอีก 8- 10 เขื่อน ซึ่งจะเป็นการเปิดเส้นทางน้ำปาร์นูที่มีความยาว 144 กิโลเมตรองเอสโตเนีย ซึ่งกินพื้นที่กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และยังเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางน้ำของยุโรปถึงปากแม่น้ำที่อยู่ในเอสโตเนียที่มีความยาวกว่า 3,300 กิโลเมตรอีกด้วย

แม้ว่าภูมิภาคยุโรปจะจริงจังในการเดินหน้ารื้อทำลายสิ่งปลูกสร้างที่กั้นขวางทางน้ำ แต่มีข้อมูลระบุว่า ในประเทศสมาชิกยุโรป 13 ประเทศนั้นยังมีสิ่งปลูกสร้างที่กั้นขวางทางน้ำอยู่อีกกว่า 230,000 แห่ง และในคาบสมุทรบอลข่านก็ยังคงมีแผนการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่กั้นทางน้ำเพิ่มขึ้นอีก 2,800 แห่งเช่นกัน

ที่มา Freshwater / WWF / Dam Removal / Nature

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: