ไม่พบผลการค้นหา
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 'พล.อ.ประยุทธ์' หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติวินิจฉัยคำร้อง 7 พรรคฝ่ายค้าน ขอให้พิจารณาคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ที่ระบุว่ารัฐมนตรีจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งในมาตรา 98 (15) เขียนไว้ว่า ต้องไม่เป็น "พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (15) แต่คือผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ได้มาจากการยึดอำนาจรัฐ ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1(4) ประกอบมาตรา 160 (6)​ และมาตรา 98 (15)​ จากที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ จากการมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ 

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติไม่รับคำร้องของนางสาวอุบลกาญจน์ อมรสิน ประธานองค์กรตรวจสอบการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ที่ยื่นเรื่องในกรณีคาบเกี่ยวกันนี้ เนื่องจากเห็นว่า ไม่ใช่คู่กรณี จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องตามมาตรา 35 ของ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งตุลาการแต่ละคนจะทำความเห็นส่วนตัวเป็นหนังสือ และให้ผู้ร้องหรือผู้เกี่ยวข้อง คัดถ่ายสำเนาได้หลังพ้น 15 วันนับแต่ที่อ่านคำวินิจฉัยนี้ สำหรับการอ่านคำวินิจฉัยที่ 11/2562 ครั้งนี้ มีนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง คือ พลเอกประยุทธ์ มอบหมายให้คณะทำงานนายกรัฐมนตรีมาศาล โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มอบหมายให้นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย 

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ระบุถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการให้ข้าราชการมาเป็นนักการเมือง  ซึ่งต้องตีความคำว่า "เจ้าหน้าที่รัฐอื่น" ที่เป็นคำเฉพาะให้สอดคล้อง และต้องตีความให้แคบ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลทั่วไป โดยได้ยกเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 ที่ได้วินิจฉัยลักษณะและตีความคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ไว้แล้วมาประกอบการพิจารณด้วย

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งหลังทำการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นั้น เป็นผลสืบเนื่องจากการยึดอำนาจรัฐ และหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐใด ทั้งไม่ได้รับแต่งตั้งโดยกฎหมายฉบับใด และมีอํานาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราว เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติและประชาชน จึงไม่มีลักษณะงานทำนองเดียวกับเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตลอดจนพนักงาน, ลูกจ้างหรือรัฐวิสาหกิจ จึงนำสู่การวินิจฉัยในที่สุดว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรนูญ