ศาลจังหวัดระยอง มีนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 กรณีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล อดีตพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง จากการโปรยใบปลิวที่มีข้อความว่า "ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ... ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ซึ่งมีภาพพื้นหลังเป็น ภาพครูครอง จันดาวงศ์ กำลังเดินเข้าสู่ลานประหาร
พลวัฒน์ ถูกกล่าวหาโปรยใบปลิวเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2558 โดยการขับขี่จักรยานยนต์ไปโปรยใบปลิวทั้งหมด 4 สถานที่ด้วยกัน คือ หน้าโรงเรียนอนุบาลระยอง สวนศรีเมือง หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม และหน้าวิทยาลัยเทคนิคระยอง หลังจากนั้นเพียง 5 วัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปแจ้งกับฝ่ายรักษาความปลอดภัยของบริษัทที่เขาทำงานอยู่เพื่อขอพบและจับกุมตัวเขา แต่เจ้าหน้าที่ได้นำตัวเขาไปยังค่ายนวมินทราชินี มทบ.14 จังหวัดชลบุรี โดยระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารนั้น มีทหารประมาณ 3-4 นาย เข้ามาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติเขาด้วย
ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค. 2558 พลวัฒน์ ถึงนำตัวกลับมาที่ สภ.เมืองระยอง ในช่วงเย็น และถูกควบคุมตัวต่อที่สถานีตำรวจอีก 2 คืน ในวันที่ 30 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวเขาไปขออำนาจศาลมณฑลทหารบกที่ 14 เพื่อฝากขังเขา แต่เขาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวได้ โดยใช้หลักทรัพย์ 70,000 บาท และสุดท้ายอัยการทหารยื่นฟ้องเขาในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 , พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ให้จำคุก 6 เดือน แต่คำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน และให้ริบแผ่นใบปลิวจำนวน 34 แผ่น และเครื่องปริ้นเตอร์
สำหรับศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาว่า ใบปลิวที่นำไปโปรยทิ้งนั้นมีข้อความลักษณะเป็นการชักชวนประชาชนที่พบเห็นและมีความคิดเห็นในทางการเมืองเช่นเดียวกับจำเลย ให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารประเทศจากการยึดอำนาจ และควบคุมอำนาจของการปกครองประเทศของ คสช. ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วน ความวุ่นวาย ความรุนแรง หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรได้ และประชาชนทั่วไปจะได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต
แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุบัญญัติว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้
แต่ศาลเห็นว่า “สิทธิเสรีภาพ” ที่ได้รับการคุ้มครองนั้น จะต้องเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีการกระทำไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญา ทั้งจะต้องไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบขึ้นภายในประเทศ มิฉะนั้นแล้วหากทุกคนใช้สิทธิเสรีภาพโดยไม่คำนึงบทบัญญัติของกฎหมาย ก็อาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและความสงบสุขโดยทั่วไปของประชาชน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่ลงโทษจำคุกจำเลยมีระยะเวลาสั้นเป็นเวลา 4 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จะเป็นเหตุให้จำเลยต้องมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากจะกลับมาประกอบสัมมาอาชีพโดยสุจริตต่อไปได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุก ย่อมจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
ข้อมูลอ้างอิง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน