ไม่พบผลการค้นหา
“ดูเหมือนว่าทหารเมียนมาร์จะไม่แยแสการยุติวิกฤติหรือพยายามลดความรุนแรงตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับความเต็มใจที่จะเคารพกระบวนการยุติธรรมหรือหลักนิติธรรม” มิเชล บาชาเลต ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามเผด็จการเมียนมา กรณีประหารนักกิจกรรม 25 ก.ค. 2565

เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) มิเชล บาชาเลต ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ประณามการประหารนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย 4 คน จากฝีมือเผด็จการเมียนมาอย่างรุนแรง ถึงแม้จะมีการเรียกร้องจากองค์การสหประชาชาติ และประชาคมอื่นๆ ถึงการตัดสินโทษประหารชีวิตผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยไปก่อนหน้านี้

บาชาเลตกล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก ที่แม้จะมีการเรียกร้องจากทั่วโลก แต่ทหารยังคงประหารชีวิตนักกิจกรรม โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การปราบปรามที่โหดเหี้ยมในครั้งนี้เป็นเพียงก้าวหนึ่งที่จะขยายไปสู่การปราบปรามประชาชนของตัวเองที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต”

“การประหารนักกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษของเมียนมา และเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต เสรีภาพ ความปลอดภัยของมนุษย์ และสิทธิที่จะได้รับการตัดสินคดีที่เป็นธรรม เหล่าทหารที่ยังคิดจะสังหารประชาชนต่อไป จะต้องติดอยู่ในบ่วงแห่งวิกฤตที่พวกเขาสร้างขึ้น” บาชาเลตระบุ

บาชาเลตเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และผู้ถูกคุมขังอื่นๆ ทันที อีกทั้งยังเร่งให้เมียนมาคืนสถานะทางพฤตินัยของรัฐ ในการเลื่อนการบังคับใช้โทษประหาร จนกระทั่งยกเลิกโทษประหารทิ้งเสีย

วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา สื่อทางการของเมียนมารายงานว่า ทหารได้สังหารประชาชน 4 คน โดยในนั้นเป็นอดีตสมาชิกพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อย่าง เพียว เซยา ตอ นักกิจกรรมประชาธิปไตย คยอว์ มิน ยู หรือที่รู้จักกันในนาม โก จิมมี่ รวมถึง ฮลา มโย อัง แล ะอัง ตูรา ซอว 

โก จิมมี และ เพียว เซยา ตอ ถูกจับกุมโดยละม่อมในวันที่ 23 ต.ค. และ 18 พ.ย. 2564 โก จิมมี ถูกตั้งข้อหาปลุกระดม ในขณะที่ เพียว ซายา ตอ และ โก จิมมี ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และถูกตัดสินประหารชีวิตโดยศาลทหารในวันที่ 21 ม.ค. 2565 ถึงแม้พวกเขาจะยื่นอุทธรณ์ แต่คำร้องกลับถูกปฏิเสธ ทั้งนี้ ฮลา มโย อัง แล ะอัง ตูรา ซอว ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมแ ละการอุทธรณ์คดีของพวกเขาก็ถูกปฏิเสธเช่นเดียวกัน

คดีในลักษณะนี้ในเมียนมามักถูกตัดสินโดยศาลทหาร ตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. 2564 มีประชาชน 117 คน โดยเป็นเยาวชน 2 คน ถูกตัดสินประหารชีวิต อีก 41 คนถูกตัดสินลับหลัง และประชาชนกว่า 11,500 คนยังคงถูกกักขังจากข้อหาต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร

“ที่น่ากังวลมากที่สุดคือ กว่า 30% ของประชาชนใน 2,100 คน เสียชีวิตในคุกทหาร ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564” บาชาเลตกล่าว

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความกังวลต่อการตัดสินใจของทหารที่จะประหารชีวิตประชาชนต่อไป และได้เน้นย้ำคำเรียกร้องของเขาให้เมียนมาเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน บาชาเลตเน้นย้ำการเรียกร้องให้ทหาร “ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อผู้ถูกจับกุม จากข้อหาที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” และปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดในเมียนมาทันที

“ดูเหมือนว่าทหารเมียนมาจะไม่แยแสการยุติวิกฤต หรือพยายามลดความรุนแรงตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับความเต็มใจที่จะเคารพกระบวนการยุติธรรมหรือหลักนิติธรรม” บาชาเลตกล่าว 

ทั้งนี้ บาชาเลตยังเน้นย้ำข้อเรียกร้องของเธอ ให้ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมารวมถึงประชาคมอื่นๆ กดดันให้กองทัพเมียนมาปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนดำเนินการตาม "ฉันทามติห้าประการ" ของอาเซียน


ที่มา: 

https://www.ohchr.org/en/press-releases/2022/07/myanmar-bachelet-condemns-executions-calls-release-all-political-prisoners