เว็บไซต์ Bloomberg เผยแพร่บทวิเคราะห์การเมืองไทย Students Step Up Protests Against Thailand’s Army-Backed Premier เมื่อ 28 ก.พ.2563 โดยระบุว่านักเรียนนักศึกษาจากหลายสถาบัน ยกระดับการชุมนุมประท้วง 'นายกรัฐมนตรีที่มีกองทัพหนุนหลัง' ซึ่งมีชนวนเหตุจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย
การชุมนุมยกระดับไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมถึงการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี บ่งชี้ว่า แม้รัฐบาลจะยังเข้มแข็ง แต่ 'พล.อ.ประยุทธ์' อ่อนแอ เพราะตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่อง
บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิง 'ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ' คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาเป็น 'จุดเริ่มต้นของจุดจบ' ทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองจะยังสนับสนุนนายกฯ ซึ่งไม่เป็นที่นิยมอย่างมากคนนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน
ส่วน 'เควิน ฮิววิสัน' ศาสตราภิชานผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ประเมินสถานการณ์หลังจากนายกฯ และรัฐมนตรีรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า รัฐบาลอาจจะเข้มแข็งขึ้น แต่สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น 'อ่อนแอลง' ทั้งยังคาดการณ์ว่าอาจจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจเสียใหม่ และอาจเป็นโอกาสให้กลุ่มผู้มีอำนาจมองหาคนอื่นแทน 'ประยุทธ์' ที่ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กได้สัมภาษณ์ 'ธนกร วังบุญคงชนะ' โฆษกพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาตั้งแต่ต้น เขายืนยันว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจและการชุมนุมประท้วงไม่ส่งผลกระทบต่อนายกรัฐมนตรี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้หมด ส่วนการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาเป็นช่องทางการแสดงความคิดเห็นของคนส่วนหนึ่ง แต่ 'คนส่วนใหญ่' ยังคงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
โจชัว เคอร์แลนซิก นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยแพร่บทความ A Popular Thai Opposition Party Was Disbanded. What Happens Next? ลงเว็บไซต์ด้านนโยบายต่างประเทศ Council on Foreign Relations (CFR) เพื่อประเมินสถานการณ์หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ
บทความดังกล่าวระบุว่า ประเทศไทยอาจเผชิญกับความไม่สงบทางการเมืองระลอกใหม่ เพราะพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้การตัดสินยุบพรรคจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรนัก เพราะมีหลายพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารเคยถูกยุบมาก่อน และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เกิดจากการรวมตัวของพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหาร ขณะที่นายกฯ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนเมื่อกว่า 5 ปีที่แล้ว ส่วนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ไม่พอใจสถาบันหลักของชาติเพิ่มขึ้น จนถึงขั้นไม่สามารถนิ่งเฉยได้
เคอร์แลนซิกระบุว่า พรรคอนาคตใหม่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ทั้งยังเพิ่งลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562 แต่กลับคว้าที่นั่งในสภามาได้ถึง 80 ที่นั่ง แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจะถูกจัดขึ้นภายใต้เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกเปรียบเปรยว่า 'ทำคลอดโดยทหาร' และ 'ถูกออกแบบเพื่อลดทอนกำลังของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร'
ส่วนสาเหตุที่พรรคอนาคตใหม่เป็นเป้าโจมตีจนนำไปสู่การยุบพรรค ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรค มีคุณสมบัติดึงดูดแนวร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ ทั้งยังเสนอนโยบายด้านการปฏิรูปสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่น่าสนใจ รวมถึงย้ำประเด็น 'กองทัพต้องพ้นไปจากการเมือง'
ด้วยเหตุนี้ เคอร์แลนซิกจึงประเมินว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่ จะทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงกลับไปสู่ความขัดแย้งและความไม่สงบทางการเมืองอีกครั้ง เพราะกระบวนการยุติธรรมของไทยจะต้องแสวงหาบทลงโทษเพิ่มเติมแก่ธนาธรในอนาคตอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ อนาคตใหม่ประกาศว่าจะปรับเปลี่ยนจากพรรคการเมืองไปเป็นขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมแทน แต่พวกเขาจะต้องเจอกับแรงต่อต้านที่สำคัญอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ขึ้นชื่อว่าไม่ค่อยมีความอดทนมากนัก และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นพวก 'สายแข็ง' ทั้งยังเคยเปรียบเทียบฝ่ายค้านว่าเป็น 'คอมมิวนิสต์' และขู่ว่ากองทัพพร้อมแทรกแซงการเมืองถ้ามีการประท้วงอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: