หลังจากประสบความสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลก Jérôme Bel ศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าของฝรั่งเศสเปิดการแสดง ‘GALA’ ณ โรงละครช้าง กรุงเทพมหานครในวันที่ 6-7 มีนาคมนี้ แนวคิดของการแสดงชุดนี้ Jérôme ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของเวทีที่เคยเป็นพื้นที่สำหรับคนเพียงกลุ่มหนึ่ง ด้วยการเปิดเวทีให้กับตัวแทนของคนในสังคมที่เขาไปจัดการแสดง โดยทุกประเทศที่เดินทางไป เขาจะคัดเลือกนักแสดงที่เป็นคนท้องถิ่นทั้งหมด และเปิดโอกาสให้ผู้แสดงตีความโจทย์ตามจินตนาการและประสบการณ์ของตัวเอง อีกมุมหนึ่ง GALA จึงเป็นการนำเสนอตัวตนของปัจเจกผ่านการเต้น รวมกันกลายเป็นการแสดงที่ Jérôme บอกว่า “สร้างมาเพื่อคนดูทุกคน”
“ใช่ครับ ครั้งแรกเลย ปกติวีลแชร์ถ้าไม่ได้ไปดูคอนเสิร์ตหรือไม่ได้ไปเที่ยวเธค มันก็จะไม่ได้เต้น วีลแชร์เที่ยวเธคก็ลำบากมาก เข้าไปบางทีเธคเขาไม่รับด้วย” อานันท์ ฉันทันต์ หรือ ‘เล็ก’ หนึ่งในทีมนักแสดงต้องนั่งวีลแชร์มาตั้งแต่อายุ 9 ขวบกล่าว
เมื่อถามว่าการแสดงในครั้งนี้มีความหมายต่อเขาอย่างไร เล็กตอบว่า เขาถือคติในใจมาตลอดว่าคนพิการและคนไม่พิการนั้นเท่าเทียมและเป็นมนุษย์เหมือนกัน
“เขาทำได้ เราก็ทำได้ จริง ๆ แล้วมันไม่ได้ยากอะไรเลย เขาส่งถึงเรา เราส่งถึงเขา แม้ว่าเรากระโดดไม่ได้ แต่ฟีลลิ่งเหมือนเรากระโดดได้ มันสื่อถึงกันได้แบบนี้”
เล็กเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาทำเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายตัวเองมาหลายครั้ง ทั้งดำน้ำและวิ่งมาราธอน การท้าทายศักยภาพทางด้านร่างกายของตัวเองเกิดจากการล้มป่วย ซึ่งเป็นราคาที่ต้องจ่ายของนักออกแบบกราฟิกฟรีแลนซ์ที่ทำงานหนักติดต่อกันมาหลายปี เล็กเล่าว่า ตั้งแต่ตอนเรียน เขาไม่เคยใส่ใจเรื่องการออกกำลังกายเลย เพราะคิดเสมอว่าจะต้องตั้งใจเรียนให้มาก เพื่อที่จบมาจะได้มีงานทำและสามารถดูแลตัวเองได้ การป่วยในครั้งนั้นทำให้เขาต้องกลับไปเผชิญกับสภาพที่ต้องมีคนอื่นมาคอยดูแล เขาจึงตัดสินใจว่าจะปล่อยให้ชีวิตเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้อีก
“ถ้าเราจะทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ เราจะคิดก่อนเลยว่า เราจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม แต่ถ้าเทียบกับเมื่อห้าปีที่แล้ว เมื่อก่อนคนพิการยังไม่ได้ออกมาเยอะขนาดนี้ ตอนนี้รู้สึกว่า คนอื่น ๆ มองว่า ไม่ต้องมาช่วยเหลืออะไรเรามากแล้ว เพราะส่วนหนึ่งการทำสถานที่สำหรับคนพิการ พวกทางลาดก็มีมากขึ้น ตรงนี้สำคัญมาก... ผมอยากทำให้มันเป็นเรื่องปกติ แล้วทุกคนก็จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกตินะที่เห็นวีลแชร์มาปั่นขึ้นแท็กซี่ หรือว่าปั่นขึ้น BTS MRT อะไรแบบนี้”
อย่างไรก็ตาม เล็กแลกเปลี่ยนว่า แม้สภาพสังคมจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็มีคนที่นั่งวีลแชร์อีกหลายคนที่ยังไม่กล้าออกมาจากบ้าน
ด้าน พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินร่วมสมัยผู้นำ GALA เข้ามาแสดงในประเทศไทยกล่าวว่า แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันของการแสดงชุดนี้ยังคงขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย
“มันไม่สอดคล้องกันเลยกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน แต่สังคมไทยเองพูดว่าเราต้องการสิ่งนี้ แต่ในความเป็นจริงเรากลับเห็นสิ่งที่เป็นมายาคติแบบเดิม คือความสมบูรณ์ ความสวย ความงาม นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมเอางานชิ้นนี้มาเล่นที่เมืองไทย เพื่อที่จะบอกว่า สิ่งที่เราพูดกับสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่นะ ที่เราพยายามพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม พยายามพูดถึงสิทธิมนุษยชน พยายามพูดถึงเรื่องของคนชายขอบ แต่เราก็ไม่เคยให้พื้นที่กับคนเหล่านี้ทั้งหมด” พิเชษฐกล่าว
ติดตามรายละเอียดการแสดงได้ที่