ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการบริหารจัดการน้ำเขื่อนน้ำอูน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำล้นตลิ่ง ยืนยันพร้อมเยียวยาเกษตรกร

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูนได้ระบายน้ำให้อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุดมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เพื่อเตรียมรับน้ำฝนที่จะเข้า มาใหม่ และได้มีการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เพื่อกำหนดเวลาการส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกพืชช่วงฤดูฝนปี 2561 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครเป็นประธาน และมติที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2561 รวม 107 วัน

แต่เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงและหย่อมความกดอากาศต่ำพัดผ่านทำให้เกิดฝนตก ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 204 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกว่า 170 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นจากเดิม 370 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 520 ล้านลูกบาศก์เมตร จนอยู่ในระดับเก็บกัก และเริ่มมีน้ำล้นอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ในวันที่ 2 สิงหาคม 2561 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนประมาณวันละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งศักยภาพของลำน้ำอูนช่วงที่แคบที่สุดขณะนั้นสามารถรับน้ำได้ประมาณ 7.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากนั้นน้ำในลำน้ำอูนจะไหลลงสู่ลำน้ำสงคราม ที่อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และไหลลงลำน้ำโขงในลำดับต่อไป

ต่อมาเกิดฝนตกหนักขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำอูนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯเพิ่มมากขึ้น และล้นทางระบายน้ำล้น (Spiilway) ประกอบกับมีน้ำจากลำห้วยปลาหาง และลำน้ำสาขาต่างๆ ไหลมาบรรจบ ทำให้มีมวลน้ำปริมาณมากที่ไหลผ่านลำน้ำอูนบริเวณ อำเภอนาหว้า และอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณกว้างที่มักเกิดน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำเกือบทุกปี ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งท่วมบริเวณดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 กรมชลประทานเร่งให้ความช่วยเหลือโดยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ประตูระบายน้ำหนองบัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม จำนวน 8 เครื่อง และที่ประตูระบายน้ำน้ำอูน อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จำนวน 12 เครื่อง ทันทีเพื่อช่วยเร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำสงคราม

43880356_2517431824996509_3071594665447784448_o.jpg

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ได้นำถุงยังชีพ ทั้งเครื่องดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งของจำเป็นช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้ง นำรถบรรทุก 4 ตัน จำนวน 2 คัน เข้าช่วยเหลือในพื้นที่ อำเภอศรีสงคราม ปัจจุบันสถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะปกติแล้ว

ในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ได้แก่ บ้านช้างมิ่ง จำนวน 2 หมู่บ้าน บ้านดอนขาวและบ้านหนองเดิ่น ตำบลช้างมิ่ง รวมทั้งสิ้น 2 หมู่บ้าน ซึ่งเกิดน้ำท่วมที่นาเกษตรกรเนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 นั้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน จึงได้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนน้ำอูนลงจากเดิม 9.78 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เหลือ 6.16 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เกษตรกรในพื้นที่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่การเพาะปลูกจนพ้นภาวะวิกฤตเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561

อย่างไรก็ตาม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ได้ทำหนังสือแจ้งจังหวัด อำเภอ หน่วยงานส่วนท้องถิ่นและกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานให้ทราบถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้ำอูน อัตราการระบายน้ำ รวมถึงการแจ้งเตือน และให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์แจ้งสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัยน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น และหน่วยงานของกรมชลประทานได้ร่วมประชุมกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของจังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2561 จนกระทั่งระดับน้ำลดลง ไม่มีน้ำล้นอาคารระบายน้ำล้น(Spillway) และได้หยุดการระบายน้ำลงลำน้ำอูน

สำหรับการเยียวยาผู้ประสบภัยนั้น ทางอำเภอ และเกษตรอำเภอ ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของพื้นที่การเกษตร เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ในการรับรองความเสียหายในระดับอำเภอ เพื่อยื่นต่อให้จังหวัดพิจารณาเงินค่าชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ตามงบประมาณภัยพิบัติ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรที่ได้รับผลกระทบต่อไป