ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญมองเทรนด์การเมืองอาเซียนมุ่งหน้าสู่การเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม แต่รัฐบาลอำนาจนิยมจะพยายามสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ในยุคที่ตะวันตกไม่กดดันเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง

นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหาร เดอะ เนชั่นกล่าวในการเสวนา "จับกระแสการเมืองอาเซียน 2018 : กัมพูชา เมียนมา ลาว" ว่าเทรนด์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้าจะมุ่งไปสู่การมีรัฐบาลอำนาจนิยมมากขึ้น โดยรัฐบาลอำนาจนิยมก็จะพยายามปรับตัวและออกแบบกฎหมายและการเลือกตั้งที่จะกระชับอำนาจได้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนต่อต้านน้อยที่สุด เหมือนกับที่นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและพรรค CPP ทำในกัมพูชา


สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหาร เดอะ เนชั่น

กัมพูชา

นายสุภลักษณ์อธิบายว่า การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาครั้งล่าสุดที่พรรค CPP สามารถครองที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภาได้ ทำให้กัมพูชากลับไปเป็นการเมืองแบบพรรคเดียวเหมือนช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2536 เพราะ 20 พรรคการเมืองที่ลงแข่งในครั้งนี้ไม่มีความเป็นพรรคการเมือง แม้แต่พรรคฟุนซินเปกของสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ที่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อน เพราะถูกนายฮุน เซนกวาดล้างอย่างหนัก ก่อนที่จะหันมาเล่นงานพรรคกู้ชาติกัมพูชาหรือ CNRP จนถูกศาลตัดสินยุบพรรคไปเพียงไม่นานก่อนการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม นายสุภลักษณ์ระบุว่า "การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่เรื่องผิวเผินเท่านั้น" เพราะที่ผ่านมา โครงสร้างการเมืองของกัมพูชาถูกครอบงำโดยนายฮุน เซนและพรรค CPP ซึ่งเริ่มต้นมาจากลัทธิมาร์กซ-เลนิน นอกจากนี้ นายฮุน เซนยังสะสมอำนาจของตัวเองผ่านระบบเครือญาติ โดยลูก 5 คนของเขาได้แต่งงานกับชนชั้นนำในประเทศ และทุกคนก็มีหน้าที่ควบคุมทั้งด้านความมั่นคงและธุรกิจ รวมถึงเขาก็ยังมีระบบพวกพ้องทางธุรกิจที่เข้มแข็งมาก

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายฮุน เซนไม่สนใจเสียงประณามการเลือกตั้งครั้งนี้จากตะวันตกก็เพราะ ปัจจุบันทุนต่างชาติ โดยเฉพาะทุนจีนจำนวนมหาศาลทะลักเข้าไปในกัมพูชา เมื่อรัฐบาลสามารถดึงดูดเงินลงทุนและทำให้ประเทศมั่งคั่งขึ้นมาได้แล้วก็จะสร้างความชอบธรรมในการครองอำนาจต่อไปได้ ซึ่งนายสุภลักษณ์มองว่า นี่เป็นแนวทางที่ผู้นำอำนาจนิยมในภูมิภาคนี้พยายามจะเดินตาม



AFP-เลือกตั้งกัมพูชา2561-ฮุน เซน

นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา


นอกจากนี้ เทคโนโลยีก็จะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเมืองของหลายประเทศ เพราะการลงทุนจากต่างชาติก็มักนำพาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปในประเทศด้วย รัฐบาลก็จะมีเทคโนโลยีในการควบคุมประชาชนของตัวเอง

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ทำให้ประชาชนมีวิธีการต่อสู้ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย และกว่ารัฐบาลจะมีมาตรการควบคุมก็อาจต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม นายสุภลักษณ์มองว่า คนที่ต่อต้านรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นปัจเจกบุคคล แม้จะจำนวนรวมกันแล้วอาจจะมาก แต่ไม่มีความเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นสถาบัน ทำให้รัฐบาลสามารถจัดการได้ง่าย เพราะรัฐบาลกุมทรัพยากร แหล่งทุนและเทคโนโลยี


เมียนมา

ด้านผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายสภาพการเมืองเมียนมาในปัจจุบันว่า กองทัพเมียนมายังกุมอำนาจด้านความมั่นคงตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ แต่นโยบายสาธารณะทั้งหมดอยู่ในอำนาจของพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาอย่างเต็มที่ เนื่องจากพรรค NLD พยายามตีความกฎหมาย เพื่อกระชับอำนาจของรัฐบาลพลเรือนได้มากขึ้น

ในรัฐบาล USDP ของนายเต็งเส่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ แกนกลางในการกำหนดและบริการรัฐกิจจะเป็นประธานาธิบดี ตามด้วยสุดยอดอภิคณะรัฐมนตรี 6 คนที่กุมสำนักประธานาธิบดี แต่รัฐบาลเต็ง เส่งก็ต้องร่วมมือกันกับสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ มีการประชุมกันทุก 1 เดือน แต่ในยุครัฐบาล NLD ของนางซูจี ศูนย์รวมแกนกลางอำนาจไม่ใช่ประธานาธิบดี แต่เป็นมุขมนตรีแห่งรัฐ ซึ่งถือเป็นการค้ำยันอำนาจระดับสูง ส่วนประธานาธิบดีก็เป็นคนในพรรค NLD ของนางซูจี


ดุลยภาค ปรีชารัชช

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญเมียนมาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดุลยภาคยังอธิบายว่า การประชุมสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติก็แทบไม่เกิดขึ้นเลยในรัฐบาล NLD เพราะนางซูจีรู้ว่า สภากลาโหม 6 ใน 11 คนยังเป็นคนของกองทัพ นอกจากนี้ รัฐบาลประจำรัฐและภาคก็ยังเป็นคนของ NLD ฉะนั้น รัฐบาล NLD ไม่ได้มีอำนาจน้อย ถือว่ามากพอประมาณเลยทีเดียว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้กองทัพมีหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ประเทศ และเป็นผู้ถ่วงดุลอำนาจในรัฐสภา รัฐบาลของนางซูจีจึงยังต้องแบ่งปันอำนาจกับกองทัพ แต่รัฐบาล NLD ก็มีสูตรการเมือง ตีความรัฐธรรมนูญใหม่ๆ ให้มีกลเม็ดในการต่อรองกดดันกองทัพได้

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในปี 2563 ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญของการเมืองเมียนมามากพอสมควร ผศ.ดุลยภาคระบุว่า หลายฝ่ายก็ต้องจับตามองว่า นางซูจีจะยังลงสมัครเป็นผู้นำของพรรค NLD อีกครั้งไหม และผู้นำพรรคอื่นๆ จะเลือกใครขึ้นมา รวมถึงบทบาทของ พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาจะกระโดดเข้ามาลงเลือกตั้งในครั้งนี้หรือไม่ แล้วใครจะมาเป็นผบ.สส.แทน เพราะทั้งหมดนี้จะกำหนดทิศทางการเมืองเมียนมาในอนาคต

วิกฤตด้านหนึ่งที่พรรค NLD ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้สเน่ห์ของซูจี บางครั้งพรรคก็เสียงแตกออกไปเป็นพรรค NDF หรือ พรรค Four Eights หรือนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีทั้งชื่นชอบนางซูจี หรือมองว่าพรรคถูกครอบงำโดยนางซูจีมากเกินไป ทำให้ขาดโอกาสหลายอย่าง แต่ผศ.ดุลยภาคมองว่า สเน่ห์ของนางซูจีและตำแหน่งที่กุมบังเหียนทุกอย่างของซูจีมันเพียงพอสำหรับซูจีและพรรค NLD ในการกุมความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า ยกเว้นแต่จะเกิดเหตุฉับพลันในเรื่องสุขภาพหรือชีวิตของนางซูจีเอง และแม้พรรค NLD จะมีปัญหาเรื่องบุคคลากรจริง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นขาดแขนขาเสียทีเดียว มีสมาชิกหลายคนที่น่าจะเป็นความหวังของพรรคได้อยู่บ้าง



วิน มยินต์ และอองซาน ซูจี.jpg

นายวิน มยินท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา

นอกจากนี้ ผศ.ดุลยภาคอธิบายว่า ประชาธิปไตยของเมียนมาได้ผูกโยงกับแนวคิดสหพันธรัฐ ซึ่งมีรากฐานทางประวัติศาสตร์มาหลายปี และไม่ใช่โครงการของพรรค NLD เพียงพรรคเดียว แต่เป็นโครงการที่ทุกภาคส่วนของเมียนมาคาดหวังร่วมกัน โดยโรดแมปที่วางไว้ จะมีการดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็นสหพันธรัฐหลังการเลือกตั้งปี 2563 ซึ่งเรื่องนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญหาเสียงด้วย ดังนั้น สเน่ห์ของการเมืองเมียนมานับจากนี้จะอยู่ตรงที่การต่อรองและออกแบบรัฐตามแนวคิดสหพันธรัฐ ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้จะยังมีข่าวการสู้รบกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพเมียนมา แต่ผศ.ดุลยภาคเห็นว่า กระบวนการสันติภาพเมียนมาคืบหน้าขึ้นมาก เพราะกระบวนการสันติภาพถูกทำให้เป็นสถาบันมากขึ้น มีโรดแมปที่ชัดเจนว่าช่วงไหนจะเข้าสู่ขั้นไหน มีสถาบันสันติภาพช่วยประสานการเจรจาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาลและกองทัพได้ แต่เพราะเมียนมายังสร้างชาติไม่เสร็จ และมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งยาวนานหลายปี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามรดกความรุนแรงจะยังหลงเหลืออยู่ และการต่อรองอำนาจก็มีเกมยุทธศาสตร์หลายแบบ เกมแรกก็คือการปะทุสงคราม กองทัพเมียนมาก็ปะทุสงครามอยู่เสมอ การก่อตัวของพันธมิตรฝ่ายเหนือก็เป็นเกมการปะทุสงครามตีโต้กองทัพเมียนมา ซึ่งผลที่ได้ก็คือ พันธมิตรฝ่ายเหนือก็มีอำนาจต่อรองในกระบวนการสันติภาพมากขึ้น

ส่วนความหวังที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดบทบาทของกองทัพลง ผศ.ดุลยภาคมองว่าคงยังไม่เกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เพราะกองทัพกำหนดเงื่อนไขว่า ประเทศจะต้องเกิด “สันติภาพ” เสียก่อน ซึ่งยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนว่ากองทัพมองว่า “สันติภาพ”ที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร อย่างไรก็๖ม รัฐบาลพรรค NLD ก็พยายามจัดสรรอำนาจอย่างระมัดระวัง ไม่ให้กองทัพรู้สึกไม่อึดอัดมากเกินไป คือไม่ลดอำนาจกองทัพ แต่ไม่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยล่มลงไป

ลาว

นายบุนคง เพชรดาวฮุ่ง หัวหน้าภาควิชาพัวพันสากล (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวอธิบายบริบทการเมืองของลาวไวว่า หลังปี 2529 ลาวได้เปลี่ยนแปลงนโยบายระหว่างประเทศด้วยการคบค้าสมาคมกับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศสังคมนิคมด้วยกันเอง และแม้ลาวจะยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา แต่ประเทศพัฒนาขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม การที่ลาวเปิดประเทศสู่โลกภายนอกมากขึ้นและมีประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับการศึกษาจากต่างประเทศมากขึ้น ไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับการเมืองลาวที่ยังคงปกครองด้วยรัฐบาลพรรคเดียว โดยนายบุนคงระบุว่า คนรุ่นใหม่ที่ไปเรียนต่างประเทศกลับมาจำนวนหนึ่งก็มีความกะตือรือร้นที่อยากจะพัฒนาประเทศและวิพากษ์วิจารณ์ประเทศของตัวเอง แต่เขาก็มองว่า คนเหล่านี้ก็ยังต้องคำนึกถึง “จุดยืนของประเทศ” ของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน จะนำระบบของต่างประเทศมาใช้กับลาวโดยตรงเลยไม่ได้



บุนคง เพชนดาวฮุ่ง

นายบุนคง เพชรดาวฮุ่ง หัวหน้าภาควิชาพัวพันสากล ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว


นายบุนคงอธิบายว่า รัฐบาลลาวไม่ได้ห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเสียทีเดียว แต่การวิพากษ์วิจารณ์จะต้อง “อยู่ในกรอบกฎหมาย” ที่ห้ามใส่ร้ายป้���ยสีหรือให้ข้อมูลเท็จ พร้อมระบุว่า รัฐบาลลาวมีความพยายามอย่างหนักที่จะ “ให้ความรู้และข้อมูล” แก่ประชาชน เพื่อตอบโต้ข่าวเท็จที่ประชาชนได้รับจากสื่อออนไลน์ เช่นกรณีที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว และอีกไม่นาน ประชาชนคงก็จะได้รับรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้

นายบุนคงแสดงความเห็นว่า การวิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบันของลาวในกรณีเขื่อนนั้นไม่ค่อยยุติธรรมนัก เนื่องจากการอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนภายใต้นโยบายการเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชีย” เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดก่อนๆ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อนำความรู้และเทคโนโลยีจากต่างชาติเข้าไปในประเทศ แต่รัฐบาลชุดนี้ก็กำลังตรวจสอบโครงการเหล่านี้ใหม่ โดยพิจารณาเรื่องผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมด้วย


AFP-น้ำท่วมลาว-เขื่อนแตก-ลาว-เซเปียน-เซน้ำน้อย-อัตตะปือ-สะหนามไซย-น้ำท่วม-บ้านพัง-โคลน

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในแขวงอัตตะปือของสปป. ลาวแตก