เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 28 มิ.ย. 2565 ที่ Doc Club & Pub. อาคาร Woof Pack พรรคเพื่อไทยจัดงานเสวนาในหัวข้อ ออกแบบอนาคตเพื่อภาพยนตร์ไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ภาณุ อารี อาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ และการผลิตภาพยนตร์สารคดี รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ผู้กำกับอินทรีย์แดง สุภาพ หริมเทพาธิป ผู้ก่อตั้ง BIOSCOPE และ Documentary Club โดยมี ชานันท์ ยอดหงษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดย รัชฏ์ภูมิ กล่าวว่า หนังอิสระคือหนังที่ไม่ขึ้นกับระบบสตูดิโอ ซึ่งระบบสตูดิโอมันคือกระบวนการทำหนังที่มีราคาแพง แต่เมื่อคนมีเครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่จำเป็นต้องเอาผลงานตัวเองไปผูกติดกับสตูดิโอ บางคนอาจจะมองว่า หนังอิสระต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่หนังในระบบสตูดิโอก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน คือเครื่องกระบวนการการเกิด มากกว่าภาษาที่ใช้หนัง
รัชฏ์ภูมิ กล่าวอีกว่า ปัญหาของหนังอิสระคือ หาโรงภาพยนตร์ยาก แม้ว่าในปัจจุบันสามารถอัพโหลดลงแพลตฟอร์มได้ แต่ไม่ได้รับประกันว่าหนังจะมีคนดู ดังนั้นมันจึงต้องมีพื้นที่บางอย่างที่จำเป็นให้หนังถูกพูดถึง อาจจะไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ปกติ แต่จัดฉายในสถานที่หนึ่งซึ่งเชิญผู้ที่สนใจมารับชมเพื่อเกิดการโปรโมทได้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการหาทุน โดยผู้ทำหนังอิสระส่วนใหญ่มักจะใช้เงินส่วนตัว ขณะที่บางประเทศ ในระบบสังคมมีทุนอุดหนุนงานศิลปะแขนงต่างๆ จากคนในสังคม แต่ประเทศไทยนั้นไม่มี แต่เมื่อมันเป็นหนังในระบบสตูดิโอมันจะมีข้อกังวลเรื่องรายได้ บางครั้งพยายามทำหนังที่แหวกขนบ แต่สิ่งที่ตอบรับมาคือรายได้ที่ไม่มาก
อนุชา กล่าวว่า ความสำคัญของหนังอิสระคือ เป็นบ่อเกิดของบุคลากรใหม่ๆ และทำให้เกิดวาทศิลป์ในภาพยนตร์แบบใหม่ๆ และทำให้คนรับชมภาพยนตร์มีรสนิยมที่หลากหลายได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้คือการพัฒนาวงการภาพยนตร์ ดังนั้นมันจำเป็นต้องมีหนังอิสระ
แม้ว่า หนังในระบบสตูดิโอจะมีหน้าที่ในการจัดสรรรายได้ จัดหาเม็ดเงินที่หมุนเข้ามาในระบบ ทำให้อุตสาหกรรมเติบโต แต่หนังอิสระเปรียบเหมือนการทดลอง และพัฒนา เพื่อทำให้อุตสาหกรรมของหนังมันมีอะไรที่มากขึ้นกว่าเดิม
อนุชา กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่นซีรีส์วาย ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ก็ล้วนมาจากหนังอิสระที่ในยุคหนึ่ง และเกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สังคมกล้าพูดเรื่องแรงๆ ในบางยุค ส่วนทางด้าน ผู้กำกับที่เป็นอิสระจากระบบสตูดิโอ จะสามารถสร้างหนังแบบไหนก็ได้ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ นอกกรอบความคิดแบบสตูดิโอ
'ความกลัว' และ 'เสรีภาพ' สองปราการแห่งการกักขังความคิด
ด้าน ภาณุ อธิบายว่า หากจะยกโมเดลในประเทศที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์เฟื่องฟูอย่างเกาหลีใต้ ก็คล้ายๆ ประเทศไทย เพราะมีช่วงหนึ่งที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ เรื่องที่เขาเผชิญคือ การเซ็นเซอร์ และทำให้คนเกาหลีปฏิเสธหนังเกาหลี
ภาณุ กล่าวว่า ตัวชี้วัดความเจริญของหนังสัญชาติเกาหลีใต้คือ Freedom of Speech ซึ่งหลักคิดนี้พุ่งแรงมากในช่วงปี 2541 หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบทั่วเอเชีย จนทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้เห็นความสำคัญของภาพยนตร์ ดังนั้นหนังเรื่อง 'Parasite' ที่ได้รับรางวัล Best Picture จากงานออสการ์ 2019 คือการต่อยอดความสำเร็จที่ต่อเนื่อง หากรัฐบาล และเอกชน รวมถึงบรรยากาศทางความคิดที่ไปด้วยกันได้ในเรื่องนี้จะเห็นว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะเติบโต
แต่เมื่อมองกลับมาในประเทศไทยจะพบว่า ยังมีบางประเด็นที่ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องศาสนา เช่นเรื่อง นาคปรก และอาปัติ ที่แทบไม่ได้ฉาย ฉะนั้นปัญหาจึงอยู่ที่เสรีภาพ ถ้าเราปลดล็อคตรงนี้ได้ และเปิดโอกาสทางความคิดเต็มที่ จะทำให้สามารถทลายกำแพงตรงนี้ลงไปได้
"โมเดลไหนในประเทศใดก็ไม่ได้ผล หากเรายังใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือสกัดกั้นทางความคิด โอกาสที่จะเห็นคอนเทนต์ดีๆ มันจึงยาก" ภาณุ กล่าว
พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ความหวังในการร่างแนวคิดฉบับประชาชน
สุภาพ กล่าวว่า เรามีพ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2473 ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาควบคุม และสิ่งที่ยังตกค้างมาคือ ระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำหนังมองว่าเป็นปัญหามาโดยตลอด และพยายามแก้ไขตรงนี้ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะส่วนใหญ่มองว่า ปราการนี้เมื่อเราไปชนกับมัน โอกาสที่เจ็บตัวมันจะมีมาก หลายคนจึงเลือกจะไม่เสี่ยง
สุภาพ กล่าวว่า หากมีการร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์ ฉบับประชาชนอยากให้มองผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น หลายครั้งที่รัฐมีมาตรการเกี่ยวกับภาพยนตร์เป็นเรื่องผู้ประกอบการเป็นหลัก แต่ถ้าเรามองในวันนี้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ต้องสอดคล้อง และตอบโจทย์กับคนในอุตสาหกรรมจริงๆ อยากให้มองไปถึงขั้นที่ว่า จะมองผู้ประกอบการวิชาชีพภาพยนตร์ได้อย่างไรบ้าง
สุภาพ เสริมว่า นิยามคำว่าหนัง ในวันที่ระบบนิเวศภาพยนตร์เปลี่ยนไปแล้ว ควรนิยามอย่างไร ที่มันจะหมายถึง คนที่ทำงานประกอบอาชีพ ไม่ควรเอาหนังไปผูกติดกับสิ่งที่เป็นวัสดุ เช่น แผ่นซีดี หรือฮาร์ดดิสก์
'ข้อจำกัด-เรตติ้ง' ระบบที่ควรมองถึงผู้มีส่วนได้เสีย
สุภาพ กล่าวว่า ในเรื่องเรตติ้งนั้น มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ ชุดหนึ่งมี 7 คน และมี 7 ชุด ในปัจจุบันนี้ เวลาจะส่งหนังเข้าพิจารณาก็ไม่ทัน เพราะหนังบางเรื่องก็ได้รับการร้องขอให้มีการพิจารณาที่เร็วขึ้น
ส่วนคนที่มาตรวจพิจารณานั้น หากมองว่า ระบบเรตติ้ง เป็นการกำหนดอายุผู้ชม หากมองในหลักการมองว่า อายุ 18 ปี เป็นผู้ใหญ่แล้ว สิ่งที่เรากังวลคือ คนที่อายุต่ำลงมา ถ้ามองในด้านผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรเป็นคณะกรรมการที่มีส่วนได้เสียในการพิจารณานี้ เช่น กลุ่มคนที่มีลูกหลาน หรือบุคคลที่อยู่ในความกังวลนั้น
ขณะที่เรื่องของการกำหนดสัดส่วนภาพยนตร์ที่จะเข้าฉาย สุภาพ อธิบายว่า ในพ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ทมาตรา 9 วรรคสี่ระบุว่า คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดโควตาภาพยนตร์ แต่มันคือภาพยนตร์ที่นิยามแบบฉายโรง
เมื่อประเด็นนี้ในเหตุผลจากสหภาพยุโรปจะมองว่า การมีระบบโควตาภาพยนตร์ในภาษาหลัก 30% เพื่อปกป้อง ภาษา และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ เกิดการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างมหาศาล แม้กระทั่งประเทศอังกฤษที่ออกจากสหภาพยุโรปก็กลายเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์ เพราะมีระบบรองรับการผลิตภาพยนตร์ที่ชัดเจน
ส.ส.เพื่อไทย ชี้ดัน พ.ร.บ.หนัง ฉบับประชาชนดันได้แต่โดนดอง
ด้าน ศรัณย์ มองว่า แนวทางการผลักดันฉบับประชาชนสามารถทำได้ หากกระทรวง หรือหน่วยงาน มีแผนแก้ไขอยู่แล้ว เราก็สามารถร่างฉบับประชาชน และประสานพรรคการเมือง เพื่อเสนอเข้าไปพร้อมกับฉบับของครม. และเป็นช่องทางที่จะให้ประชาชนได้รับรู้ และหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนในกลุ่มอื่น
ศรัณย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่ถูกเสนอโดยประชาชนเยอะ แต่จะโดนเรื่องอื่นแทรกขึ้นมา ทำให้กฎหมายที่ร่างโดยฉบับประชาชนถูกชะลอได้เป็นปีๆ อยู่ในสภาฯ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ที่มีการแก้ไขล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2551
ส่วนเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ต้องมองเป็นกฎหมายแรงงานต่อไป และมันมีหน่วยงานที่ต้องควบคุมในหลายๆ ช่องทาง ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ทำไม่ได้ และทำได้ยากคือ หาหน่วยรวบรวมสิ่งเหล่านี้ และทำให้ยากต่อการที่ทำให้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขอการสนับสนุน เพราะไม่รู้ว่าต้องขอจากหน่วยไหน