ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' โชว์วิสัยทัศน์ ผุดทางแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ชี้ต้นตออยู่ที่ระบบขนส่ง เปลี่ยนรถเมล์เป็น EV ทำง่ายแต่รัฐบาลไม่ทำ จวกปัดตก พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ทุกฉบับ สะท้อนความไม่จริงใจ

วันที่ 14 ก.พ. ที่พรรคเพื่อไทย ในงานเสวนาหัวข้อ 'วิกฤตฝุ่น PM 2.5 เพื่อไทยมีทางแก้ไข' โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ นพ.ญาณกิตติ์ ห่วงทรัพย์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. และ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย


ไม่เห็นค่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด

จักรพล เผยว่า ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า จ.เชียงใหม่ ติดอันดับ 4 ของโลก ขณะที่ กรุงเทพฯ 33 ของโลก ในเรื่องค่ามลพิษของ PM 2.5 ซึ่งกระทบทั้งการท่องเที่ยวและการเกษตร รวมถึงวิถีชีวิตในระบบทางเดินหายใจและปอด เป็นภัยที่มองไม่เห็นและอยู่กับเรามาอย่างยาวนาน เมื่อตนได้ถามกระทู้ในสภาฯ ไปก็ไม่มีผู้มาตอบถึง 3 ครั้ง และ พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่พรรคเพื่อไทยยื่นไว้ ก็ยังค้างอยู่ไปไม่ถึงไหน จึงอยากทวงถามงบประมาณที่ถูกผลาญไป ว่าได้แก้ไขปัญหาให้ประชาชนบ้างหรือไม่

"ผมได้รีดไขมันส่วนเกินใน พ.ร.บ.ฉบับอื่นที่ท่านตีตกไปอย่างไม่เห็นค่า เช่น ส่วนที่คาบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อื่นๆ ทำให้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นทางหนึ่งที่เราจะแก้ปัญหาได้ทุกมิติในระยะยาว" จักรพล กล่าว

จักรพล กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยหลักของปัญหาฝุ่นควันในไทย ส่วนหนึ่งมาจากตัวเลขการเผาไหม้ในทางอุตสาหกรรมซึ่งข้ามพรมแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียง เป็นประเด็นที่ต้องยกระดับการพูดคุย ควรตั้งเป็นทวิภาคีเพื่อหาทางออกร่วมกันในทุกประเทศ อีกส่วนคือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ที่บีบให้เกษตรกรต้องเผาไหม้ผลผลิตทางการเกษตร เพื่อไม่ให้งบประมาณตกไป ซึ่งประเด็นนี้จะถูกถ่ายทอดในการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ด้วย


จี้เปลี่ยนขนส่งเป็น EV ทำง่ายแต่ไม่ทำ

ขณะที่ ชนินทร์ ระบุว่า ต้นเหตุของฝุ่นในกรุงเทพฯ กว่า 50% มาจากระบบขนส่ง และ 30% มาจากการเผาไหม้ 20% มาจากการก่อสร้าง สถานการณ์ฝุ่นจึงเกิดขึ้นตลอดปี และไม่สามารถถ่ายเทไปในชั้นบรรยากาศได้ ทางออกจึงควรควบคุมและลดปริมาณการผลิตฝุ่นในกรุงเทพฯ ให้น้อยลง และฝุ่นควันจะลดความหนาแน่นลงไปได้เอง

โดยพรรคเพื่อไทยมีแนวทางผลักดันเพิ่มระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยการลดค่าใช้จ่ายให้คนเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน และนำมาสู่การใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลงด้วย อีกทางคือผลักดันการใช้รถ EV ปัจจุบันรถเมล์จำนวน 3,000 คันในประเทศ ถูกเปลี่ยนเป็นรถ EV ไม่ถึง 100 คัน จีงยากจะเข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่เร่งเปลี่ยนให้หมดทั้งระบบ ทั้งที่จำนวนรถเมล์ก็ไม่ได้มาก

"ในไทยมีสตาร์ตอัพด้านการผลิตรถ EV อยู่ไม่น้อย แต่ไม่ได้รับการผลักดันเพียงพอให้เป็นรายใหญ่ในประเทศ รัฐบาลที่ดีควรสนับสนุนด้านนี้ ไม่ใช่เพียงเปิดให้ต่างประเทศมาผลิตรถในไทย แต่ทำให้คนไทยมีกำลังพอจะผลิตรถใช้ได้เอง" ชนินทร์ กล่าว


รัฐบาลต้องจริงใจแก้

ด้าน นพ.ญาณกิตติ์ ชี้ว่า สถานการณ์ฝุ่นควันในกรุงเทพฯ ก็สาหัสไม่ต่างจากในภาวะสงคราม เพราะ PM 2.5 คือฝุ่นพิษที่สามารถแทรกซึมผ่านทางเดินหายใจ และดูดซึมไปถึงระบบไหลเวียนโลหิตได้ ไปสู่เส้นเลือดหัวใจและสมอง นำมาสู่การอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ ที่ดูดซึม พร้อมยืนยันว่า ฝุ่นพิษดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตราว 3 หมื่นคนต่อปี ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ว่า ชาวไทยยินดีจ่ายเงินให้รัฐบาลถึง 2 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันดังกล่าว

สาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ คือรถเมล์ควันดำ ความจริงเป็นปัญหาที่แก้ง่าย ถ้าภาครัฐมีความจริงใจ กระทรวงคมนาคมสามารถเปลี่ยนรถใหม่ หรือส่งเสริมให้รถไฟฟ้าหรือ EV เป็นวาระแห่งชาติได้ ส่วน พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ที่ถูกปัดตกไปหลายครั้ง พรรคเพื่อไทยแนะนำว่า ควรยกเลิกการจัดตั้งคณะกรรมการมากมายที่แก้ปัญหาไม่ได้จริง และมุ่งเน้นการแก้ปัญหาผ่านกระบวนการตรากฎหมายที่มีประสิทธิภาพ

"ส.ส.ต้องออก พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ใช้ได้จริง และเรื่องขนส่งสามารถทำได้เลย รถที่ไม่ผ่านมาตรฐานต้องยกเลิก หรือเปลี่ยนเป็นรถ EV และกฎหมายมีอยู่แล้ว แต่ต้องใช้ให้เข้มข้น ภาคประชาชนและรัฐบาลสมัยหน้าต้องจริงจังกับเรื่องนี้" นพ.ญาณกิตติ์ เน้นย้ำ