ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่มีอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว แต่ไม่ส่งผลให้เกิดการป่วยที่รุนแรง จะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบการระบาดที่กินเวลายาวนานกว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาแถลงว่า เรื่องดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่ไกลนี้ที่ยุโรป

ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปขององค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงเมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) ว่า การระบาดในระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นในยุโรป ณ ตอนนี้ อาจทำให้สถานการณ์ระบาดในยุโรปพบกับจุดจบในเวลาอันใกล้นี้ “มันเป็นไปได้ว่าภูมิภาคนี้กำลังเคลื่อนตัวไปสู่จุดจบของการระบาด” คลูกระบุกับผู้สื่อข่าว โดยกล่าวเสริมว่าเชื้อโอไมครอนจะระบาดในประชากรยุโรปประมาณ 60% ในช่วงเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้

“มันจะใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเดือนที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ระดับโลก ในอีกทางต้องขอบคุณวัคซีน หรือจากคนที่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ” คลูกกล่าวถึงการระบาดของโอไมครอนในยุโรปที่พุ่งสูงขึ้นในตอนนี้ “เราคาดได้ว่า มันจะมีช่วงเวลาที่เงียบสงบ ก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกในปลายปีนี้ แต่ไม่จำเป็นว่ามันจะต้องเป็นการระบาดใหญ่อีกครั้งที่จะกลับมา” คลูกระบุเสริม

ในขณะที่ นพ.แอนโธนี ฟาวชี แพทย์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้กล่าวไปในทางเดียวกันกับสิ่งที่องค์การอนามัยโลกระบุ โดยสถานการณ์ในสหรัฐฯ ตอนนี้มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ลดลง “อย่างชัดเจน” และในหลายพื้นที่ของประเทศกำลังมี “สถานการณ์ทุกอย่างที่ดูดี” หลังจากที่สหรัฐฯ พบกับระลอกของการระบาดโอไมครอนอย่างหนัก

ในทางเดียวกันเมื่อสัปดาห์ก่อน หน่วยงานขององค์การอนามัยโลกประจำทวีปแอฟริกาได้ออกมาระบุว่า อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตในภูมิภาคแอฟริกากำลังลดลงเรื่อยๆ เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อโอไมครอนในระลอกที่สี่ ที่ตัวเลขการติดเชื้อพุ่งสู่จุดสูงสุดเท่าที่เคยเกิดการระบาดมา

อย่างไรก็ดี สำหรับการประกาศให้โอไมครอนกลายเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่นนั้น คลูกกล่าวว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะจัดให้โควิด-19 มีสถานะเพียงแค่โรคระบาดเฉพาะถิ่น “มันยังต้องถกเถียงกันอีกมากสำหรับโรคเฉพาะถิ่น แต่หมายถึง มันเป็นไปได้ที่จะสามารถทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไวรัสตัวนี้ทำให้ (เรา) ต้องประหลาดใจได้มากกว่าหนึ่งครั้ง เราจึงต้องระวังมันให้มาก” คลูกระบุ

คลูกย้ำเตือนว่า การระบาดของโอไมครอนที่มีอัตราการแพร่ระบาดที่พุ่งสูงและเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ยุโรปควรหันไปขับเน้นที่ “การลดอุปสรรคต่อโรงพยาบาล โรงเรียน และเศรษฐกิจ และหันไปให้ความสนใจกับการปกป้องกลุ่มคนเปราะบาง” มากกว่าการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเดียว

“ถ้าคุณรู้สึกไม่สบาย อยู่กับบ้าน ตรวจหาเชื้อ ถ้าผลเป็นบวกก็กักตัว” คลูกระบุแนวทางในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ คลูกระบุว่าสถานการณ์ระบาดของโอไมครอนในยุโรปไม่ได้ทำให้ระบบสาธารณสุขเกิดความท่วมท้นจนรองรับผู้ป่วยไม่ได้แล้ว และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับผู้ป่วยทั่วไปได้ แต่ยังคงมีปัญหาในการรองรับผู้ป่วยมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอยู่

คลูกย้ำว่า การฉีดวัคซีนยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ถึงแม้วัคซีนอาจจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้ 100% แต่การฉีดวัคซีนยังคงช่วยให้ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้เช่นเคย

ที่มา:

https://www.france24.com/en/europe/20220123-europe-could-be-headed-towards-end-of-pandemic-after-omicron-says-who