ไม่พบผลการค้นหา
'โฆษกฯ ชัย' ป้อง 'เศรษฐา' แจงปม 'เสรีพิศุทธ์' ร้องปปช.แต่งตั้ง ผบ.ตร. ข้ามหัวอาวุโส - ยันเป็นไปตาม พรบ.ตำรวจฉบับใหม่ ยึดหลักอาวุโส ควบความสามารถ ลั่นไม่มีลุอำนาจ รับฟังรอบด้านแล้ว

5 ต.ค. 2566 ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และ อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ก.ตร.คนอื่น ๆ รวมแล้ว 10 คน กรณีแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยมิชอบ เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงหลักอาวุโส ตามที่กฎหมายกำหนด ว่า การแต่งตั้งดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 77และ78 ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยสาระสำคัญระบุว่า ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นผบ.ตร.จะต้องเป็นรองผบ.ตร. หรือจเรตำรวจ ซึ่งในการพิจารณาวันนั้น มีบุคคลที่มีคุณสมบัติคือรองผบ.ตร. 4 ท่าน ซึ่งเกณฑ์ในการคัดเลือกให้ยึดลำดับอาวุโส และความรู้ความสามารถ โดยกฎหมายก่อนนี้ระบุว่าให้ยึดเพียงอาวุโสเป็นหลัก แต่พ.ร.บ.ตำรวจ ปี 65 ให้พิจารณาเรื่องความรู้ความสามารถด้วย โดยให้นายกฯเป็นผู้เสนอชื่อ และที่ประชุม ก.ตร.เป็นผู้ลงมติโหวต 

ชัย กล่าวต่อว่า จากข้อเท็จจริงแคนดิเดตทั้ง 4 คน ในแง่อาวุโสนั้นมี 2 ระดับ คือพล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์มีความอาวุโสสูงที่สุด และมากกว่าอีก 3 คน 1 ปีเท่ากัน โดยก่อนที่นายกฯจะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ได้เปิดให้ก.ตร.แสดงความคิดเห็นถึงความรู้ ความสามารถของแคนดิเดตแต่ละท่านว่าเป็นอย่างไร รวมถึงได้ให้พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ในขณะนั้น เป็นผู้นำเสนอในฐานะผู้บังคับว่าแคนดิเดตแต่ละคนเป็นอย่างไร โดยนายกฯได้รับรู้อย่างรอบด้าน และประเมินแล้วว่าความแตกต่างทางอาวุโสห่างกันเพียงปีเดียว แต่เมื่อรับฟังเรื่องความรู้ ความสามารถจึงได้เสนอพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และที่ประชุมก็เห็นชอบกับข้อเสนอของนายกฯ

"เมื่อเทียบข้อเท็จจริงกับกฎหมาย การแต่งตั้งครั้งนี้ไม่มีปัญหา ถูกต้องตามหลักกฎหมายทะกประการ ข้อเท็จจริงมีความชอบธรรม สมเหตุสมผล นายกฯไม่ได้ลุแก่อำนาจ ยึดตามหลักกฎหมาย และรับฟังอย่างรอบด้านแล้วจริงๆ"ชัย กล่าว

เมื่อถามว่า จากการฟ้องร้องขณะนี้ จะดำเนินการอย่างไร ชัย กล่าวว่า ก็จะชี้แจงตามข้อเท็จจริง ให้ไปชี้แจงที่ไหนก็ทำได้ ไม่ใช่เฉพาะนายกฯแต่คนที่นั่งอยู่ห้องประชุมเขารู้ว่าอะไรเกิดขึ้นสามารถชี้แจงได้ทุกคน

ถามต่อว่า นายกฯได้ปรารถเรื่องนี้อย่างไร ชัย กล่าวว่า นายกฯบอกแต่เพียงว่านึกไม่ถึงว่าจะเป็นปัญหา และมันไม่ควรจะเป็นเรื่อง ทำให้เสียเวลา เสียสมาธิในการทำงาน แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วสังคมก็อยากจะรู้จึงให้ตนมาชี้แจงทำความเข้าใจ