การรักร่วมเพศ ผิดกฎหมายเคนยามาตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อยู่ โดยประมวลกฎหมายอาญาของเคนยากำหนดให้ "การมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติ" เป็นความผิดอาญา มีโทษจำคุก 14 ปี
กฎหมายดังกล่าวเจาะจงว่าความสัมพันธ์ที่มีความผิดคือความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายเท่านั้น แต่ทางคณะกรรมการสิทธิเกย์และเลสเบี้ยนแห่งชาติเคนยา (Kenya's National Gay and Lesbian Human Rights Commission: NGLHRC) ชี้ว่า เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และ ผู้มีสำนึกทางเพศไม่แบ่งเพศชายและหญิง (non-binary) ก็ได้รับผลกระทบด้วย
เจรี กาเตรู ผู้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการสิทธิเกย์และเลสเบี้ยนแห่งชาติเคนยา กล่าวว่า คนทั่วไปไม่รู้ว่ากฎหมายดังกล่าวมุ่งเอาผิดเฉพาะความสัมพันธ์ชายรักชาย "พวกเขามีอคติกับคนกลุ่มน้อยทางเพศอื่นๆ ไปด้วย"
ในปี 2016 คณะกรรมการสิทธิเกย์และเลสเบี้ยนแห่งชาติเคนยา ได้ยื่นคำร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากทำให้เกิดกระแสการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) และชี้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะมากะเกณฑ์ความสนิทชิดเชื้อของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ศาลเพิ่งรับคำร้องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 และมีกำหนดจะประกาศคำตัดสินในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 ทว่าก็มีการเลื่อนมาจนกระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 24 พ.ค.นี้
โรเซลีน อาบูรีลี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะตัดสินว่า กฎหมายอาญามาตราที่มีการยื่นคำร้องให้ยกเลิกนั้นไม่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2010 ซึ่งปกป้องความเป็นส่วนตัวและเกียรติของประชาชนทุกคน พร้อมเสริมว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาสาสตร์ที่เป็นข้อสรุปแล้วว่าผู้ที่เป็น LGBTQ นั้นเป็นมาตั้งแต่เกิด
คณะผู้พิพากษา ชี้ว่า ขณะที่ศาลเคารพต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายห้ามการรักเพศเดียวกันในประเทศอื่นๆ แต่ศาลก็มีหน้าที่ต้องเคารพต่อค่านิยมที่เป็นที่ยอมรับกันของชาวเคนยาด้วย
ปัจจุบัน ประเทศในทวีปแอฟริกา 38 จาก 55 ประเทศ บังคับใช้กฎหมายที่กำหนดให้การเป็นเกย์มีความผิด ในโซมาเลียและเซาท์ซูดานมีโทษประหารชีวิต ในไนจีเรียมีโทษจำคุก 14 ปี และแทนซาเนียมีโทษจำคุก 30 ปีโดยในหลายๆ ประเทศนั้น กฎหมายนี้เริ่มถูกบังคับใช้โดยชาวตะวันตก ตั้งแต่สมัยที่ประเทศต่างๆ ในแอฟริกายังคงเป็นอาณานิคม
เอริก กีตารี หนึ่งในผู้ยื่นคำร้อง ปฏิญาณว่า เขาจะยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินซึ่งมองว่าเปี่ยมด้วยอคตินี้
คณะกรรมการสิทธิเกย์ฯ วิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินนี้ ว่าเป็นการทำให้การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันนั้นถูกกฎหมาย โดยการสืบทอดวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคมการกีดกัน แบ่งแยก และใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย
ทว่า ชาวเคนยาเองก็ไม่ได้มีความเห็นไปในทางเดียวกัน และคนจำนวนไม่น้อยก็เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล
ชาวคริสต์และอิสลามในเคนยาก็ให้การสนับสนุนกฎหมายปัจจุบัน และอัยการสูงสุดเองก็ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษกฎหมายดังกล่าว
วารูกูรู ไกทอ ทนายสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิเกย์ฯ ชี้ว่า ชีวิตในเคนยาในฐานะ LGBTQ นั้น ส่วนใหญ่มักต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เมื่อมีใครเปิดเผยตัวตนก็มักจะต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง การทำให้เป็นคนชายขอบ และบางครั้งก็เจอเหตุที่รุนแรงกว่าถึงขั้นเสียชีวิต ไกทอยังกล่าวอีกว่าเขาจะยื่นอุทธรณ์เรียกร้องความเท่าเทียมต่อไป
เฟลิกซ์ คาซานดา หรือที่คนรู้จักกันในชื่อ มาม่า จี เล่าว่าการใช้ชีวิตในฐานะเกย์ในเคนยานั้นเต็มไปด้วยทรมาณต้องทนต่อการข่มเหงโดยบรรดาเจ้าของที่พัก ผู้มักจะขับไล่เขา และยังต้องพบกับการเลือกปฏิบัติเมื่อเข้ารักษาในศูนย์สาธารณสุขของรัฐ แต่ก็เลือกที่จะไม่ขอความช่วยเหลือจากตำรวจ เพราะอาจถูกจับ และต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 14 ปี
"หากรัฐบาลไม่ปกป้องคุณ ทุกคนก็จะต่อต้านคุณ เพราะพวกเขารู้ว่าคุณไม่มีทางทำอะไรพวกเขาได้ คุณจะไปแจ้งความที่ไหนก็ไม่ได้ ฉันไม่สามารถไปสถานีตำรวจแล้วบอกว่าฉันถูกคุกคามเพราะรสนิยมทางเพศของฉัน" คาซานดา กล่าว
อูฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น เมื่อปีก่อนว่า สิทธิ LGBTQ ไม่ใช่เรื่องสำคัญต่อชาวเคนยา "นี่ไม่ใช่เรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างที่พวกเขาอยากจะเรียกกัน นี่เป็นเรื่องของสังคม มันคือวัฒนธรรมของเรา" พร้อมย้ำว่านี่ไม่ใช่เรื่องว่ารัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ
ศาสนาจารย์ ทอม ออติเอโน แห่งคริสตจักรเลวิงตันยูไนเต็ด ยืนกรานว่า การรักเพศเดียวกันจะไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศนี้
"เราจะไม่ยอมรับการรักเพศเดียวกัน ถึงแม้ว่าศาลพยายามจะเปลี่ยนแปลงมัน เราก็จะยื่นคำร้องต่อศาล" ออติเอโน กล่าว