ไม่พบผลการค้นหา
'พิธา' นำแถลงผลประชุม '9 เซียน คณะเปลี่ยนผ่านฯ' นัดแรก ตั้งเพิ่ม 5 คณะทำงาน ชงปฏิรูปที่ดิน-สาธารณสุข-ต้านคอร์รัปชัน พร้อมทำข้อเสนอช่วยรัฐบาลปัจจุบันแก้ปัญหาเร่งด่วน

วันที่ 5 มิ.ย. ที่ทำการพรรคเพื่อไทย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน พร้อมด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมการฯ นำแถลงผลการประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรก โดยเป็นวาระประชุมติดตามผลการทำงานของ 7 คณะทำงาน มีรายชื่อตัวแทนพรรคการเมือง พรรคละ 1 คน ในแต่ละคณะทำงานจึงมี 8 รายชื่อ

สำหรับวันนี้ คณะทำงานด้านพลังงานและราคาน้ำมันดีเซล ได้อธิบายผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลปัจจุบันไม่ลดภาษีสรรพสามิต ราคาพลังงานจะขึ้นไปเท่าใด และยังมีวาระกำหนดบทบาทการทำงาน และ ผลลัพธ์ที่ต้องการเห็นจากคณะทำงานทั้ง 7 ชุด และกำหนดกรอบทำงานให้คณะทำงานชุดที่เหลือเพื่อให้มีเอกภาพ สร้างผลลัพธ์ได้จริง

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังกำหนดคณะทำงานเพิ่มเติม เพราะยังมี 4-5 ประเด็น ที่ประชาชนให้ความสนใจและสร้างผลกระทบ ได้แก่ 

1) คณะทำงานเศรษฐกิจและรัฐบาลดิจิทัล 

2) คณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่น ส่วย 

3) คณะทำงานสาธารณสุข (เน้นด้านการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล) 

4) คณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติของสังคมไทย 

5) คณะทำงานปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ

พิธา เผยว่า พรุ่งนี้ (7 มิ.ย.) จะมีการประชุมในระดับหัวหน้าพรรค เพื่อนำข้อสรุปที่ได้ในวันนี้ไปพูดคุยหารือต่อไป คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านเหตุประชุมต่อไปเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. และจะมีการตั้งคณะกรรมการสัญจร เพื่อลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหา ในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย

ด้าน เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการฯ ชี้ว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมงานกัน และใช้ทุกวินาทีอย่างคุ้มค่า เราไม่รอ เพราะทุกวินาทีมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไป และเป็นความเดือดร้อนของประชาชน

ขณะที่พรรคเพื่อไทยมี 5 ข้อเสนอแนะ เป็นกรอบทำงานใหญ่ คือ

1) ความมั่นคงทางการคลัง การใช้งบประมาณต้องคิดคำนวณผลลัพธ์ให้คุ้มค่ากับภาษีของประชาชน ลดการขาดทุนทางการคลังลงเรื่อยๆ และถ้าเราเข้าสู่สมดุลทางการกลางไปอีก 7 ปีข้างหน้าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีให้กับประเทศไทย

2) ระบบภาษีต้องมีประสิทธิภาพ มีฐานภาษีที่สูงขึ้น ดึงคนเข้ามาในระบบภาษีได้มากกว่าเดิม ซึ่งจะนำมาสู่รายได้ของรัฐที่เพิ่มขึ้น อัตราภาษีจึงต้องคำนวณอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบ ต้องไม่กระทบทางภาคเอกชนและภาคการระดมทุน

3) การออกแบบนโยบาย ต้องคิดถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม 

4) ในแต่ละคณะทำงานต้องวางแผนการทำงานในระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน รวมถึงระยะกลางและระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง

5) เปิดให้ประเทศมีการต่างประเทศที่สร้างรายได้ ประเทศไทยต้องเปิดขึ้นเพื่อเชื่อมกับโลกและดึงดูดการค้าการลงทุนซึ่งจะนำมาสู่รายได้มหาศาลที่เพิ่มขึ้น

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติในฐานะคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ในคณะทำงานเดิม 7 ชุด ได้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การทำแผนแม่บทเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจน และปัญหารากเหง้าคือที่ดินทำกิน ต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพราะตอนนี้คนไทยกำลังอยู่ในแผ่นดินผิดกฎหมายมายาวนาน เพราะรัฐบาลประกาศแนวเขตภาคพื้นที่ของประชาชน ปัญหาดังกล่าวเราคงไม่แก้เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา คือไปทวงคืนผืนป่า และทำให้คนถูกจับกุม ป่าลดลง แต่คนเข้าเรือนจำมากขึ้น

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคร่วมรัฐบาลล้วนเห็นตรงกันว่าเป็นวาระเร่งด่วน เช่นเดียวกับราคาพลังงาน ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และคณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมด้านเศรษฐกิจและสังคม จะไม่ใช่เพียงให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการเท่านั้น แต่มุ่งหมายให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันอย่างเท่าเทียม

วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทยรวมพลัง ในฐานะคณะกรรมการฯ ย้ำถึงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร รวมถึงแหล่งน้ำ นวัตกรรมเกษตร ซึ่งต้องการต่อยอดพรรคก้าวไกลที่ตั้งใจจะเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร ผ่าน พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า รวมถึงติดตามความคืบหน้าของงานด้านต่างๆ ต่อไป

วิรัตน์ วรศริน เลขาธิการพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะคณะกรรมการฯ สนับสนุนการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ตราไว้ตั้งแต่ปี 2507 แต่ปัจจุบันนี้มีประชากรไทยเพิ่มขึ้น 35 ล้านคน จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม แล้วเป็นนโยบายลำดับแรกของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้ประชาชนได้มีที่ดินทำกินของตัวเอง

กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ในฐานะคณะกรรมการฯ ยืนยันว่า ทุกคณะทำงานจะต้องทำงานในเรื่องที่เร่งรัดอย่างแท้จริง แม้วันนี้จะมีเพียง 12 คณะทำงาน โดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง พรรคเป็นธรรม เน้นย้ำเรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้ หรือปาตานี ในทุกมิติ และ ตัวแทนพรรคพลังสังคมใหม่ เห็นด้วยกับทุกข้อเสนอ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ซึ่งต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

อย่างไรก็ตาม พิธา ชี้ว่า ผลลัพธ์ของการทำงานคณะทำงาน ยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพราะยังมีรัฐบาลรักษาการทำหน้าที่อยู่ จะเกิดการทำงานทับซ้อน ทำให้ข้าราชการเกิดความสับสน แต่หลายเรื่องรัฐบาลเดิมก็โยนมาให้รัฐบาลใหม่แล้ว เราจึงต้องทำงานล่วงหน้า จะได้ไม่ต้องมีการปฐมนิเทศหรือฮันนีมูนกันใหม่ ถือว่าเป็นข้อเสนอแนะของรัฐบาลต่อสื่อมวลชน หากรัฐบาลเดิมไม่คิด ก็จะมีข้อเสนอให้ไปทำต่อได้เป็นเรื่องของการช่วยกันคิด

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ต้องการคือหลังการจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลชุดที่ 30 จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แม้ทุกพรรคจะเห็นปัญหาเดียวกัน แต่ไม่ใช่มีวิธีแก้เดียวกัน จึงจำเป็นต้องพูดคุยกันเพื่อสงวนจุดต่าง จะได้ไม่ต้องทำในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก และได้เรียงลำดับความสำคัญในการประชุมทุกนัดในช่วง 100 วันแรกของการเป็นรัฐบาล

พิธา LINE_ALBUM_230606_3.jpgพิธา LINE_ALBUM_230606_4.jpgเผ่าภูมิ พิธา พรรคร่วมรัฐบาล LINE_ALBUM_230606_5.jpgพิธา พรรคร่วมรัฐบาล LINE_ALBUM_230606_7.jpgพิธา ศิริกัญญา IMG_5082.jpegพิธา เพื่อไทย เผ่าภูมิ IMG_5081.jpeg