ไม่พบผลการค้นหา
ตลอดช่วงคืนที่ผ่านมาในกรุงมอสโก สถานการณ์ความตึงเครียดได้ทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ เยฟเกนี ปริโกชิน หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ ซึ่งดำเนินภารกิจการรุกรานในยูเครน กลับยกทัพเข้ายึดศูนย์กลางทางทหารในรัสเซีย ก่อนการยกทัพมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงมอสโก ท่ามกลางคำถามว่าอำนาจในมือของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มีอยู่มากน้อยเพียงใดในตอนนี้
2023-06-24T071614Z_124030613_RC2JP1ASUTZ6_RTRMADP_3_UKRAINE-CRISIS-RUSSIA-PRIGOZHIN-PUTIN.JPG

ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวหา ปริโกชิน อดีตพันธมิตรของเขาว่าเป็นกบฏ ก่อการจลาจลด้วยอาวุธ และ "แทงประเทศของเราเข้าข้างหลัง" แต่เมื่อช่วงคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 มิ.ย.) ปริโกชินได้ยุติการเคลื่อนทัพเข้ากรุงมอสโกทั้งหมด และสั่งให้คนของเขากลับไปที่ฐานที่มั่น “ใน 24 ชั่วโมง เราจะไปได้ถึงภายในระยะ 200 กิโลเมตรจากมอสโก ในครั้งนี้เลือดนักสู้ของเราไม่หลั่งแม้แต่หยดเดียว” ปริโกชินประกาศ

ปริโกชินกล่าวอ้างว่า การเคลื่อนทัพในครั้งนี้ เป็น “การเดินทัพเพื่อความยุติธรรม” ไม่ใช่การทำรัฐประหาร อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้เรียกความพยายามดังกล่าวของปริโกชินว่าเป็นการก่อกบฎ แต่เรื่องทุกอย่างกลับจบลงอย่างรวดเร็ว

กลุ่มวากเนอร์มีบทบาทอย่างมากในสงครามยูเครน โดยภายใต้การนำของปริโกชิน กลุ่มทหารรับจ้างนี้ได้ยึดพื้นที่ของยูเครนได้ก้าวกระโดดกว่ากองทัพรัสเซียเอง และกองกำลังของพวกเขากลับกลายมาเป็นกองกำลังของหลัก แทนกองกำลังของกองทัพรัสเซียเอง ในการเดินหน้าการรุกรานยูเครน นอกจากนี้ กลุ่มวากเนอร์ยังเกณฑ์นักโทษในเรือนจำของรัสเซีย ในการเข้าประจำการเป็นกองกำลังของวากเนอร์ด้วย

ปริโกชินมีความบาดหมางในทางสาธารณะ กับบรรดาผู้นำกองทัพรัสเซียที่ทำสงครามมานาน โดยเขากล่าวหาว่ากองทัพรัสเซียไม่ส่งมอบความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่วากเนอร์ได้มากเพียงพอ ก่อนที่พวกเขาจะกล่าวหาว่า กองทัพรัสเซียได้โจมตีใส่กองกำลังของวากเนอร์จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้ ทางการรัสเซียยังออกคำสั่งให้กลุ่มวากเนอร์เปลี่ยนมาอยู่ภายใต้โครงสร้างการบังคับบัญชาของทางการรัสเซียภายในวันที่ 1 ก.ค.ด้วย

สถานการณ์กลับเลวร้ายลง หลังจากปริโกชินนำกองกำลังของเขาบุกข้ามจากยูเครนตะวันออกที่ถูกยึดครองไปยังเมืองรอสตอฟออนดอน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของรัสเซีย จากนั้นวากเนอร์ได้เคลื่อนทัพขึ้นไปบนมอเตอร์เวย์สายหลักผ่านโวโรเนจ ซึ่งเป็นหนทางระหว่างการมุ่งหน้าไปยังกรุงมอสโก 

เหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญของสงครามยูเครนในระยะเสวลา 16 เดือนที่ผ่านมา โดยในตอนนี้ วากเนอร์ได้ยกทัพของเขาถอนกำลังไปยังตอนเหนือ เพื่อมุ่งหน้าสู่เบลารุส และปริเชนโกจะไม่ถูกตั้งข้อหาทางอาญาจากทางการรัสเซีย ทั้งนี้ มีรายงานว่า อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างทางการรัสเซียกับวากเนอร์ โดยหากเรื่องราวเหล่านี้จะจบลงอย่างง่ายดายในลักษณะดังกล่าว นี่อาจเป็นจุดจบในบทบาทของปริเชนโกในสงครามยูเครน

เป็นเวลาหลายเดือนที่ปริโกชินออกมากล่าวโจมตีต่อ เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย และ วาเลรี เกรานซิมอฟ ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซีย เกี่ยวกับความล้มเหลวในการจัดหาอุปกรณ์และกระสุนที่เพียงพอให้กับทหารรับจ้างของเขา หลังจากนั้น เมื่อปูตินสนับสนุนเส้นตายที่จะนำกลุ่มทหารรับจ้างทั้งหมดที่ต่อสู้ในยูเครน มาลงนามในสัญญาเพื่อเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ปริโกชินได้ปฏิเสธคำสั่งดังกล่าว โดยเขามองว่าเรื่องนี้เป็นการท้าทายอิทธิพลของเขา

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปริโกชินจึงได้ออกมากล่าวโจมตีทางการรัสเซีย พร้อมย้ำว่าข้ออ้างในการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยเฉพาะข้ออ้างในการจัดการกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในพื้นที่ดอนบาสนั้น ล้วนเป็นเรื่องโกหกจากทางการรัสเซียเอง พร้อมระบุว่าผู้นำฝ่ายกลาโหมของรัสเซียจ้องจะหาประโยชน์จากการรุกรานยูเครนในครั้งนี้ และเขาได้ประกาศการเดินทัพเข้ากรุงมอสโก เพื่อโค่นล้มอำนาจของผู้แสวงหาผลประโยชน์ โดยปริโกชอินอ้างว่าเขาเองเป็น “ผู้รักชาติ”

จนกระทั่งเมื่อวานนี้ ปูตินได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์ โดยเขาขอร้องให้เกิดความสามัคคีกันในชาติ พร้อมระบุการกระทำดังกล่าวของวากเนอร์นั้นเป็นการก่อกบฏ และยืนยันว่าใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกนำตัวมาลงโทษ ในขณะที่ปริโกชนิออกมากล่าวสวนปูติน โดยไม่ได้กล่าวชื่อถึงประธานาธิบดีรัสเซียโดยตรงว่าเข้าใจเจตนาของเขา “ผิดพลาดอย่างร้ายแรง”

ปริโกชินยืนยันว่าเขาเองไม่ได้มีความขัดแย้งกับปูตินโดยตรง แม้ตัวเองจะไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธจากทางกลาโหมรัสเซียได้เพียงพอ โดยในตอนนี้ ปริโกชินได้เดินทัพออกนอกรอสตอฟ เพื่อมุ่งหน้าสู่เบลารุสตามข้อเสนอของลูคาเชนโก พันธมิตรคนสำคัญของปูติน และปริโกชินจะไม่ถูกตั้งข้อหาทางอาญา ในขณะที่กองกำลังของวากเนอร์สามารถลงนามในสัญญา เพื่อเข้าสังกัดเป็นกำลังพลของกองทัพรัสเซียได้

เหตุวุ่นวายในครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามจำนวนมากแก่ภาวะผู้นำของปูติน โดยเฉพาะการที่ปูตินกลับต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทางลูคาเชนโก ในการเจรจาหาทางลงให้แก่ปริโกชิน ซึ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในขณะที่ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ออกมาระบุว่าปูตินถูกทำให้เสียหน้าจากเหตุในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในรัสเซียหลังจากนี้จะเป็นที่ถูกจับตามองไปในอีกระยะใหญ่


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-66006880?fbclid=IwAR0rlYsB5I9_mdFpZ0Sv7SNX_k6H0xYxvmoDEpNYfoYPENVvAf_oERrn5uM