ยารักษา HIV/AIDS เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามพัฒนาให้สำเร็จมาเป็นเวลานานแล้ว และล่าสุดก็เพิ่งมีงานวิจัยที่ขยับเข้าใกล้เป้าหมายนี้ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางสังคมและลักษณะเฉพาะของไวรัสยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาไม่สำเร็จโดยง่าย
นักวิทยาศาสตร์จาก Rockefeller University ในนิวยอร์ก พบว่าการใช้โปรตีนไปกระตุ้น T cells หรือ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่มีไวรัสอยู่แต่ไม่แสดงอาการ ให้สามารถแสดงอาการออกมา และตรวจพบได้ง่าย ถือเป็นการขยับเข้าใกล้การหาหนทางรักษาเข้าไปอีกขั้น โดยการวิจัยล่าสุดนี้เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์รายเดือน Nature Medicine
อะไรที่ทำให้วัคซีน HIV เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมกันแน่? ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะเฉพาะของไวรัสชนิดนี้มีง่ายต่อการกลายพันธุ์ แบ่งแยกย่อยได้เป็นหลายชนิด และไวรัสในตัวผู้ป่วยแต่ละรายก็มีลักษณะไม่เหมือนกัน ทำให้ยากต่อการคิดค้นยาตัวใดตัวหนึ่งให้สามารถรักษาอย่างครอบคลุมได้
อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ HIV Deniers หรือ ผู้ที่ปฏิเสธว่าเชื้อ HIV มีอยู่จริง เช่น รัฐบาลบางประเทศ นำไปสู่การชะลอโครงการพัฒนายารักษาเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีความเชื้อเรื่องแพทย์และยาพื้นบ้าน ที่อาจทำให้ผู้ป่วยละทิ้งการรักษาแผนปัจจุบัน หรือใช้ยาแบบตะวันตก จนอาการของโรคทรุดเกินเยียวยาด้วย
ด้านผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ในออสเตรเลีย ได้ให้ความเห็นว่า เธอเชื่อนักวิทยาศาสตร์สมัยนี้จะสามารถคิดค้นวัคซีนที่มีฤทธิ์ต่อต้านยับยั้งไวรัส HIV ได้สำเร็จ แม้ว่าเชื้อจะกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ก็ตาม โดยอาจต้องเน้นพัฒนาตัวยาที่ออกฤทธิ์ทำลายส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของไวรัส หรือ ยาที่เสริมภูมิต้านทานในร่างกายหลายระบบพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ตอบสนองต่อเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อ HIV มากกว่า 36 ล้านคนทั่วโลก และการคิดค้นยารักษายังคงเป้าหมายสำคัญของวงการแพทย์