ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯ ค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่จากดิน ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอาการติดเชื้อดื้อยาลงได้
ชอน เบรดี และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยร็อกเกอะเฟลเลอร์ ในนิวยอร์ก วิเคราะห์ดีเอ็นเอจากตัวอย่างดินกว่า 1,000 ตัวอย่าง จนพบตัวยาปฏิชีวนะใหม่ 'มาลาซิดีนส์' (Malacidins) ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคดื้อยาในแผลติดเชื้อในสัตว์ทดลองได้
การทดลองดังกล่าวแตกต่างจากการค้นพบยาปฏิชีวนะตัวอื่น ๆ เนื่องจากทีมวิจัยต้องการมองหาตัวยาใหม่จากแหล่งผลิตจุลชีพที่ไม่ใช่ห้องทดลอง โดยระบุว่าจุลชีพที่อยู่ตามธรรมชาติจะมีการพัฒนาได้รวดเร็ว และเหมาะต่อการรักษาเชื้อโรคที่ดื้อยาได้ดีกว่า
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ประมาณการว่าแต่ละปี มีประชากรสหรัฐฯ อย่างน้อย 2 ล้านคน ติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะ และในจำนวนนี้มีที่เสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 23,000 คน จากอาการของติดเชื้อโดยตรง โดยที่กรณีเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในสถานสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล หรือ ศูนย์พักฟื้น
โดยข้อมูลของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยร็อกเกอะเฟลเลอร์กลุ่มนี้ระบุว่า หากไม่มีการค้นพบยาตัวใหม่ อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในลักษณะนี้น่าจะเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ภายในปี 2050