บริษัทด้านที่ปรึกษาธุรกิจเผยผลสำรวจ พบว่า ฮ่องกงยังครองแชมป์เมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงสุดในโลก รองลงมาคือ โตเกียว สิงคโปร์ โซล ส่วนกรุงเทพฯ ไต่ขึ้นเป็นอันดับที่ 40 จากเดิมอยู่ที่ 52 เหตุจากเศรษฐกิจขยายตัว คนย้ายจากชนบทเข้าเมือง
'เมอร์เซอร์' บริษัทให้คำปรึกษาด้านบริหารธุรกิจ มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก เปิดเผยผลการสำรวจอัตราค่าครองชีพประจำปีครั้งที่ 25 พบว่าในการจัดอันดับ 10 เมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก พบว่า มี 8 ใน 10 เมืองอยู่ในเอเชีย ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น และราคาที่อยู่อาศัยที่มีการผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฮ่องกง ซึ่งยังคงครองตำแหน่งเมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่สอง จากราคาที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก
สำหรับเมืองอื่น ๆ ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ โตเกียว สิงคโปร์ โซล ซูริก เซี่ยงไฮ้ อาชกาบัต ปักกิ่ง นิวยอร์ก และเซินเจิ้น โดยเมืองอาชกาบัต ในประเทศเติร์กเมนิสถาน เป็นเมืองที่ไต่อันดับขึ้นมากที่สุด จากอันดับ 43 ในปี 2018 สู่อันดับ 36 ในปี 2019 เนื่องจากขาดแคลนสกุลเงินและราคาสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้น โดยการจัดอันดับอัตราค่าครองชีพของเมอร์เซอร์ปีนี้เป็นการเก็บข้อมูลจาก 20 เมืองใน 5 ทวีปทั่วโลก วัดจากการเปรียบเทียบราคาของ 200 รายการในแต่ละเมือง ภายใต้หมวดหมู่ที่อยู่อาศัย การเดินทาง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในบ้าน และความบันเทิง
ผลการสำรวจยังพบว่าในเมืองใหญ่ทั่วโลก ราคาตั๋วภาพยนตร์ กาแฟ ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในฮ่องกง มีราคาแพงที่สุดในโลก ขณะที่ นมในกรุงปักกิ่งมีราคาสูงที่สุดในโลกถึง 4.45 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับราคานมในนครนิวยอร์กที่ 1.21 ดอลลาร์ หรือสูงกว่าถึง 2.6 เท่า
ส่วนกรุงเทพฯ อยู่ที่อันดับที่ 40 ไต่ขึ้นมา 12 อันดับจากการสำรวจเมื่อปีก่อนหน้า โดยสาเหตุที่มีอัตราค่าครองชีพเพิ่มขึ้นมาจากการย้ายถิ่นฐานของผู้อยู่อาศัยจากเมืองอื่น ๆ และผลของการเติบโตด้านเศรษฐกิจ โดยมีผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงินและภาวะเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น