แม้ว่าพรรคก้าวไกล จะไต่บันไดอำนาจมาถึงจุดสูงสุด ได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง และพยายามรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลไปได้
312 เสียง 8 พรรค ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ คือตัวเลขการันตีในตอนนี้
แต่อาจยังไม่แน่นหนา แข็งแกร่งพอ ยังมีหลายอุบัติเหตุให้ต้องตั้งรับ มีอย่างน้อย 3 เรื่อง
1.คดี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นสื่อไอทีวี เรื่องนี้เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต้องกลายเป็น ส.ส.เพียงแค่เสี้ยวนาที แล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะพิษหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งอุบัติขึ้นหลังจากพรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.80 เสียง มีผู้ไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนชงไปศาลรัฐธรรมนูญ
และเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีก่อน ยังลุกลามไปถึงกรณีการที่พรรคอนาคตใหม่ “กู้เงิน” ธนาธร จนกระทั่ง “ยุบพรรค” ในที่สุด
ตัดภาพมาที่พรรคก้าวไกล ในยุค “พิธา” หุ้นสื่อไอทีวีอาจทำพิษอีกครั้ง
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายประจำรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถาม พิษหุ้นสื่อของ “พิธา” ใน 3 กรณี
กรณีแรก หุ้นสื่อจะมีผลต่อสถานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ “วิษณุ” ตอบว่า อยู่ที่รายละเอียดคำร้องที่ยื่นไปว่า มีการขอให้วินิจฉัยความเป็นส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ ซึ่งตนยังไม่เห็น
กรณีที่สอง หากถูกตัดสินว่าถือหุ้นสื่อจริง การที่ “พิธา” เซ็นรับรองผู้สมัครส.ส.พรรคก้าวไกล จะมีผลกระทบด้วยหรือไม่ “วิษณุ” กล่าวว่า
“ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเลือกตั้งซ่อมใหม่ทั้งหมด อย่างในอดีตที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยาของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปกาลงคะแนน และมีคนไปถ่ายไว้ ซึ่งเกิดเหตุเพียงคูหาเดียว แต่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นโมฆะทั้งประเทศ ดังนั้นกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน หากมีการเลือกตั้งซ่อมก็ต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ”
กรณีที่สาม หาก “พิธา” ถูกศาลวินิจฉัยเรื่องขาดคุณสมบัติส.ส.เพราะถือหุ้นสื่อ จะกระทบกับการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ผู้ร้องว่า ร้องในประเด็นใด ถ้าร้องในประเด็นว่า ขาดจากการเป็น ส.ส. นายพิธา ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ เพราะนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้
หรือถ้าร้องว่า ขาดจากความเป็นนายกฯ ก็สามารถเป็น ส.ส.ได้ แต่ถ้าคนร้อง ร้องทั้ง 2 เรื่อง ศาลก็จะวินิจฉัยทั้ง 2 เรื่อง หรืออาจจะกระทบไปอีกประเด็น คือการเซ็นรับรองสมาชิกพรรค
“ดังนั้นอยู่ที่คำร้องว่าจะร้องอย่างไร จะร้องทั้ง 3 ประเด็น เลยหรือไม่ แต่อย่าเพิ่งคิดไปไกลขนาดนั้น เอาทีละประเด็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ทําอะไรเลย อย่าเพิ่งคิดในแง่ร้าย”
เรื่องนี้พรรคก้าวไกล “สู้สุดฤทธิ์” แหล่งข่าวในพรรคก้าวไกล ยังมั่นอกมั่นใจว่า ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยพรรคอนาคตใหม่
“เรื่องข้อกฎหมายไม่มีอะไรน่ากังวล เราเชื่อว่าผ่านไปได้ แต่ถ้าจะไม่รอดก็เพราะเขาต้องการจะยุบพรรคก้าวไกลโดยไม่สนใจเรื่องกฎหมาย และถือว่าเขาไม่สนใจ 25 ล้านเสียงที่เลือกฝ่ายประชาธิปไตยมา” แหล่งข่าววงในทีมกฎหมายพรรคก้าวไกล ระบุ
เรื่องที่ 2 ตั้งรับกับการเป็นรัฐบาลโดยไม่ตั้งใจ ว่ากันว่า บรรดาแกนนำพรรคก้าวไกล น้อยคนที่มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลจะได้เสียงเป็น “อันดับหนึ่ง” ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นโยบายหลายนโยบายที่ประกาศสู่สาธารณะจึงมีลักษณะกลมๆ ยังคิดไม่ครบถ้วน
ยิ่งในช่วงโค้งสุดท้าย แกนนำบางรายยังคิดว่าอย่างเก่งก็ 80 เสียงถึง 100 ต้นๆ ยังไม่มีใครกล้าการันตีว่าจะถึง 160 ตามเป้าหมาย แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา “พลิกล็อกถล่มทลาย” พรรคก้าวไกลกลายเป็น รัฐบาลจำเป็นขึ้นมา การตั้งรับประเด็นต่างๆ จึงออกแนว ทุลักทุเล
โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ-ปากท้อง ที่พรรคก้าวไกล ชูขึ้นค่าแรง 450 บาท ยังคงถูกตั้งคำถามจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และต้องการให้รัฐบาลใหม่ส่งเสริมการจ่ายค่าจ้างแบบ Pay by skills มากกว่า ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างได้เงินเพิ่ม และผู้ประกอบการก็ได้ผลิตภาพของงานเพิ่ม
อีกทั้ง นโยบายรัฐสวัสดิการต่างๆ ซึ่งต้นทางมาจากการ “เก็บภาษี” เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเก็บภาษีในภาคตลาดทุนไทย ก็ถูกนักลงทุน นักเลงหุ้น รุมถล่ม
ยังมีอีกหลายนโยบายที่ถูกตั้งคำถาม และถามถึง “ความเชื่อมั่น” ในการบริหารเศรษฐกิจที่ยังวิกฤตอันเป็น “มรดก” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ยังมีเวลาอีกนับเดือน ที่จะตั้งหลักในการเป็นรัฐบาล ภายหลังการตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
เรื่องที่ 3 ด่านที่ยากที่สุด คือ การโน้มน้าวใจ ส.ว.ให้มายกมือโหวตให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังขาดอีก 64 เสียงเป็นอย่างต่ำ กว่าจะผ่านเส้นตาย 376 เสียง อันเป็นด่านที่ยากยิ่งกว่ายาก
โดยเฉพาะ ยามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศก้องว่า รวมไทยสร้างชาติ ยังมีอยู่ และยังทำการเมืองอยู่