ไม่พบผลการค้นหา
นักสัตววิทยาเผยผลสำรวจประชากรเพนกวินบริเวณหมู่เกาะโกรเซต์ ในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ลดลงจากกว่า 5 แสนคู่ เหลือราว 60,000 คู่ในรอบ 35 ปี อาจเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน ทำให้สัตว์น้ำย้ายที่อยู่ และเพนกวินขาดแคลนอาหาร

เกาะโกชงในหมู่เกาะโกรเซต์ ทางใต้ของมหาสมุทรอินเดีย เคยเป็นอาณาจักรของเพนกวินราชาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชากรเพนกวินราชามากถึง 500,000 คู่จากการสำรวจเมื่อปี 2525 แต่ผลสำรวจครั้งล่าสุดบ่งชี้ว่าเพนกวินบนเกาะดังกล่าวลดจำนวนลงอยู่ที่ประมาณ 60,000 คู่เท่านั้น

นักสัตววิทยาจากฝรั่งเศสได้เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมลงในวารสาร Antarctic Science เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมตั้งข้อสันนิษฐานว่าจำนวนประชากรเพนกวินราชาที่ลดลงถึงร้อยละ 88 ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา อาจเกิดจากจุดเปลี่ยนสำคัญประมาณทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เอลนินโญในหลายพื้นที่ทั่วโลก

รายงานในแอนตาร์กติกไซน์บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้สัตว์น้ำที่เป็นอาหารของเพนกวินย้ายถิ่นที่อยู่ พ่อแม่เพนกวินต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อหาอาหาร แต่ไม่สามารถนำอาหารกลับมาให้ลูกๆ เพนกวินได้ทันเวลา ทำให้เพนกวินราชาที่เพิ่งเกิดต้องตายไปเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแถบมหาสมุทรอินเดียกลับไม่ส่งผลกระทบต่อประชากรเพนกวินอาเดลี ซึ่งอยู่ในเกาะอื่นของหมู่เกาะโกรเซต์ เพราะเพนกวินสายพันธุ์นี้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น สวนทางกับเพนกวินราชาที่มีประชากรลดลง

ทั้งนี้ เพนกวินราชาเป็นเพนกวินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก 'เพนกวินจักรพรรดิ' มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร และน้ำหนักสูงสุดประมาณ 16 กิโลกรัม

AFP-เพนกวินราชา

ที่มา: Antarctic Science/ NY Times/ Smithsonian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: