ไม่พบผลการค้นหา
"ชวน" แนะแนวทางให้รัฐบาลใช้ช่องทาง ม.165 เสนอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ฟังความเห็นนักศึกษา ขณะที่สั่งห้าม กมธ.ดูงานต่างประเทศ เพื่อป้องกันโควิด -19 แต่ไม่ห้ามหากไปส่วนตัว พร้อมชี้แจงกรณี พ.ร.ฎ.จ่ายเงินเดือนย้อนหลัง ส.ส. ยืนยันตีความตามกฎหมาย ไม่ได้เอื้อประโยชน์ฝ่ายใด

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวทางการเสนอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อรับฟังความเห็นนักศึกษาว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ สมมุติว่าสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อคือกัน 250 คน แล้วเอา ส.ส.มาลงชื่ออีกเพียง 1 คน สามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้แล้ว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 แต่ก็เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารด้วยที่จะเสนอให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเพื่อเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ได้ กรณีอยากรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภา ทุกฝ่ายจึงควรหารือกัน ส่วนประธานรัฐสภาไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอเอง เว้นแต่มีการเสนอเข้ามา แล้วประธานรัฐสภาก็จะเสนอเรื่องไป แต่ทั้งนี้ตนก็ได้มอบหมายให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเตรียมการเผื่อไว้แล้ว

ส่วนเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่เกิดขึ้นถึงขั้นต้องใช้กลไกรัฐสภาหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ปกติถ้าเป็นสมัยประชุมไม่ค่อยมีปัญหา สามารถเสนอญัตติได้ในระเบียบวาระ แต่เมื่อปิดสมัยประชุม กระบวนการทั้งหลายจะทำได้เมื่อเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งมีกฎหมายบังคับไว้ชัดเจน แต่ฝ่ายที่สามารถดำเนินการได้สะดวกที่สุดคือฝ่ายบริหาร ส่วนกระบวนการพูดคุยกันระหว่างคู่ขัดแย้งอันนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่รัฐสภามีหน้าที่อำนวยความสะดวก งตามความต้องการของแต่ละฝ่ายได้ หาก ส.ส.หรือ ส.ว.ต้องการจะเสนอ ก็สามารถหารือกับฝ่ายรัฐบาลได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องดีหากร่วมมือแก้ปัญหาการโดยส่วนรวม

ทั้งนี้ นายชวน ยังกล่าวถึงแนวทางการป้องกันเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่รัฐสภา ว่า สมาชิกมีการเสนอญัตติเพื่อหารือเรื่องนี้แล้ว แต่อยู่นอกสมัยประชุมเบื้องต้นสั่งให้คณะกรรมาธิการงดเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศ เพราะใช้งบหลวง แต่ไม่รวมถึงการเดินทางส่วนตัว ไม่มีสิทธิไปห้าม เมื่อกลับมาจากต่างประเทศไม่ใช่เรื่องของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เป็นเรื่องฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข หากมาจากประเทศเสี่ยงอาจจะถูกดำเนินการตามขั้นตอน

นายชวน ย้ำว่า มีบุคลากรสาธารณสุขของไทยที่มีประสิทธิภาพสูง ดูแลได้ดีกว่าหลายประเทศ และเบื้องต้นขณะนี้ไม่มีสมาชิกที่เข้าข่ายต้องกักตัว นอกจากนี้ ยังชี้แจงกรณีพระราชกฤษฎีกาจ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้ ส.ส. 2 เดือน ทั้งที่ยังไม่เข้าทำหน้าที่ โดยนับย้อนหลังไปถึงวันเลือกตั้งว่า การตีความเรื่องนี้ จบไปแล้วเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งผู้วินิจฉัยไม่ใช่ฝ่ายของสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว ยืนยันว่าผลการวินิจฉัยไม่ได้เป็นประโยชน์เพื่อฝ่ายใด แต่เป็นไปตามกฎหมาย