ไม่พบผลการค้นหา
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องเรียนกกต. จี้ตรวจสอบ 'อุตมม สาวนายน' กรณีเข้าเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า ส่อกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องเรียนคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ตรวจสอบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีเข้าเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า มีการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ (เพิ่มเติม ครั้งที่ 1) โดยในบ่ายวันที่ 24 ธันวาคม 2561 นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยเว็บไซต์แนวหน้า นำมาลงข่าวในหัวข้อ 'อุตตม'ไม่ผิด! 'สุรพร'จวก'เรืองไกร'รู้กฎหมายรัฐธรรมนูญดี แต่มีอาเจนด้า (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.) โดยมีเนื้อข่าวดังต่อไปนี้

24 ธ.ค.61 นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวยอมรับว่า นายอุตตม สาวนายน สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.61 ภายหลังการได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในที่ประชุมใหญ่พรรค เมื่อวันที่ 29 ก.ย.61 หลังจากนั้นยื่นรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อขอจัดตั้งพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.61 แต่ก่อนหน้านี้นายอุตตม ไม่อยู่ในรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทั้ง 500 คน

ขณะที่นายสุรพร ยืนยันว่าตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง และคำสั่ง คสช.กำหนดว่าพรรคการเมืองใหม่จะต้องส่งรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรค พร้อมกับการยื่นจดแจ้งพรรค จึงต้องมีการประชุมใหญ่ก่อนมีสมาชิกพรรค เนื่องจากก่อนที่ กกต.จะรับรองให้เป็นพรรคการเมืองนั้น ยังไม่เป็นพรรค จึงยังไม่มีสมาชิกพรรค

"เราเป็นพรรคใหม่ จะจดทะเบียนจดแจ้งตั้งพรรคนั้นจะต้องมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่เป็นตุ๊กตาก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไม่ครบองค์ประกอบในการจดทะเบียนพรรค ส่วนความเป็นกรรมการบริหารจะเกิดขึ้นเมื่อนายทะเบียนรับรองพรรคแล้ว และเมื่อเป็นพรรคเรียบร้อยแล้วจึงจะสามารถรับสมัครสมาชิกพรรคได้ ดังนั้น ความเป็นสมาชิกจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะได้รับการรับรองเป็นพรรคการเมืองแล้ว เรื่องนี้ไม่มีอะไรผิด นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พูดตีขลุมเฉยๆ ทั้งที่เจ้าตัวรู้กฎหมายรัฐธรรมนูญดี แต่งานนี้คงมีอาเจนด้า" นายสุรพร กล่าว

นายสุรพร ชี้แจงว่า พรรคใหม่แตกต่างจากพรรคเก่า เพราะพรรคเก่าต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคก่อนจึงจะเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ แต่นี่เป็นพรรคใหม่ ทุกอย่างมันยังไม่มีอะไรเลย ยังไม่เป็นพรรค ยังไม่เป็นอะไรเลย แต่กฎหมายบังคับให้ต้องมีการประชุมใหม่เพื่อเลือกกรรมการบริหารก่อน โดยมีสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 500 คน มาประชุม

อย่างไรก็ดีจากข่าวที่ปรากฏ จึงเป็นพยานหลักฐานที่ควรนำแจ้งต่อ กกต. โดยเร็ว โดยมีประเด็นและข้อสังเกต ดังต่อไปนี้

1. นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยอมรับแล้วว่า นายอุตตม สาวนายน สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.61 ภายหลังการได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในที่ประชุมใหญ่พรรค (ที่ถูกน่าจะเป็นวันที่ 13 พ.ย. 61)       

2. นายสุรพรฯ ยังให้ข้อมูลที่อีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้นายอุตตม ไม่อยู่ในรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทั้ง 500 คน ซึ่งแสดงให้เข้าใจได้ว่า ในขณะที่มีการเลือกนายอุตตม ให้เป็นหัวหน้าพรรค พปชร. นั้น นายอุตตมไม่ได้เป็นทั้งสมาชิกและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคด้วย ใช่หรือไม่     

3. ตามที่นายสุรพรฯ ยืนยันว่าตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง และคำสั่ง คสช.กำหนดว่าพรรคการเมืองใหม่จะต้องส่งรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรค พร้อมกับการยื่นจดแจ้งพรรค จึงต้องมีการประชุมใหญ่ก่อนมีสมาชิกพรรค เนื่องจากก่อนที่ กกต.จะรับรองให้เป็นพรรคการเมืองนั้น ยังไม่เป็นพรรค จึงยังไม่มีสมาชิกพรรค นั้น เห็นว่า ไม่สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ข้อ 5 แต่อย่างใด ในคำสั่งดังกล่าว ข้อ 5 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ดำเนินการตามหมวด 1 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561

4. ตามที่นายสุรพรฯ ให้ความเห็นว่า เราเป็นพรรคใหม่ จะจดทะเบียนจดแจ้งตั้งพรรคนั้นจะต้องมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่เป็นตุ๊กตาก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไม่ครบองค์ประกอบในการจดทะเบียนพรรค ส่วนความเป็นกรรมการบริหารจะเกิดขึ้นเมื่อนายทะเบียนรับรองพรรคแล้ว และเมื่อเป็นพรรคเรียบร้อยแล้วจึงจะสามารถรับสมัครสมาชิกพรรคได้ ดังนั้น ความเป็นสมาชิกจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะได้รับการรับรองเป็นพรรคการเมืองแล้ว เรื่องนี้ไม่มีอะไรผิด นั้น เห็นว่า ไม่สอดคล้องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 16 ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 7 ข้อ 14 กับแบบ พ.ก. 3 และ แบบ พ.ก. 4 แต่อย่างใด  

 5. ตามที่นายสุรพรฯ ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรผิด นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พูดตีขลุมเฉยๆ ทั้งที่เจ้าตัวรู้กฎหมายรัฐธรรมนูญดี แต่งานนี้คงมีอาเจนด้า นั้น ขอเรียนว่า กรณีตามคำร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกของหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นกรณีตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เท่านั้น เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงปรากฏในสื่อมวลชนมาโดยตลอด และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนที่ ข้าฯ จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ จึงไม่มีอาเจนด้าหรือนัยยะทางการเมืองแต่อย่างใด หากประสงค์จะให้มีผลทางการเมือง ก็คงต้องรอให้พรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัคร ส.ส. และเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเกิดขึ้นก่อน 

 6. ตามที่นายสุรพรฯ ชี้แจงว่า พรรคใหม่แตกต่างจากพรรคเก่า เพราะพรรคเก่าต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคก่อนจึงจะเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ แต่นี่เป็นพรรคใหม่ ทุกอย่างมันยังไม่มีอะไรเลย ยังไม่เป็นพรรค ยังไม่เป็นอะไรเลย แต่กฎหมายบังคับให้ต้องมีการประชุมใหม่เพื่อเลือกกรรมการบริหารก่อน โดยมีสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 500 คน มาประชุม นั้น อาจไม่สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ข้อ 5 ที่กำหนดให้ให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ดำเนินการตามหมวด 1 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่ทำได้ก่อนพรรคดการเมืองเดิมที่ทำได้ภายหลัง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ข้อ 1 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยการยกเลิกมาตรา 140 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน 

โดยมาตรา 140 ให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งหรือเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และยังดำรงอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 เป็นสมาชิก และยังคงเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นต่อไป

โดยให้สมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 และประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นต่อไปมีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 และชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สมาชิกผู้ใดมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการเป็นสมาชิก ให้เป็นอันพ้นจากสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น และให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว”

ดังนั้น กรณีย่อมจะเห็นได้ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ข้อ 5 ให้สิทธิบุคคลซึ่งประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ก็ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 แล้ว แต่พรรคการเมืองเดิมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ยังไม่สามารถดำเนินการหาสมาชิกเพิ่มเติมได้ ทำได้เพียงการยืนยันความสมาชิกพรรคการเมืองโดยการจ่ายคำบำรุงพรรคเท่านั้น และต้องยืนยันภายในเวลาที่กำหนด คือ 30 วันเท่านั้น        

"จึงเรียนมาเพื่อขอให้ กกต. นำข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของนายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปประกอบการตรวจสอบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีเข้าเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า มีการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ ต่อไปโดยเร็วด้วย" เรืองไกร กล่าว