ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ชวนนักวิชาการถกปัญหา 'ทำกรุงเทพฯ ถูกลง' ชี้ต้นทุนแฝงในชีวิตคนเมือง ย้ำอย่าลืม 'เส้นเลือดฝอย' ชูนโยบายลดต้นทุน-เพิ่มคุณภาพ ด้าน ดร.เกษรา ชี้ กทม.ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิง ยังมีความเหลื่อมล้ำ

วันที่ 23 มี.ค. 2565 ที่ Sheldon Ekamai ซอยเอกมัย 15 เครือข่ายเพื่อนชัชชาติ จัดกิจกรรม Town Hall Meeting ครั้งที่ 1 วงสนทนาว่าด้วยแนวคิดการ 'ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง' โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามอิสระ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อนชัชชาติ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพฤติกรรมศาสตร์และการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา 

ไม่ลืม 'เส้นเลือดฝอย' ย้ำอย่าปล่อยให้เมืองกินคน 

ชัชชาติ เน้นย้ำถึงความสำคัญของ 'เส้นเลือดฝอย' โดยระบุว่า ปัจจุบัน กทม. ให้ความสำคัญกับ 'เส้นเลือดใหญ่' หรือ เมกะโปรเจ็กต์ ต่างๆ ที่ต้องเป็นผู้มีทรัพยากรจึงจะสามารถเข้าถึงได้ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยก็ต้องพึ่งพาเส้นเลือดฝอยที่อยู่ห่างจากใจกลาง แต่หากเส้นเลือดฝอยขาดคุณภาพ จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างกว้างขึ้น ดังนั้น แนวนโยบายจะต้องไม่ลืมพัฒนาเส้นเลือดฝอยของเมือง และต้องเน้นการลดต้นทุน รวมถึงเพิ่มคุณภาพ เพื่อนำมาสู่โครงสร้างพื้นฐานของสวัสดิการที่ยั่งยืนและทั่วถึง 

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า กทม. เกี่ยวข้องกับปัญหาทุกด้าน เปรียบเสมือนมีทุกกระทรวงของรัฐบาล มองว่าหากออกนโยบายแจกเงินสวัสดิการ 1,000 บาท ก็ไม่สามารถช่วยคนกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากเงินส่วนนี้ไม่สามารถนำไปซื้อบริการที่มีคุณภาพได้ จากการลงพื้นที่พบว่าคนกรุงเทพฯ ไม่มีสวัสดิการและโอกาสที่ดี มีค่าเดินทางสูง และต้นทุนแฝงจำนวนมาก กล่าวได้ว่า ตอนนี้ความเป็นเมืองกำลังกลืนกินคนกรุงเทพฯ อยู่โดยไม่รู้ตัว 

สำหรับหน่วยงาน กทม.ที่มีงบประมาณประจำปี 80,000 ล้านบาท และเจ้าหน้าที่ 80,000 คน ชัชชาติระบุว่า หากดำเนินการเต็มที่จะช่วยลดค่าต้นทุนของเมืองได้อย่างมาก 

ชัชชาติ _220323_0.jpgเกษรา _220323_2.jpg

ดร.เกษรา ชี้ กทม. ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิง 

ขณะที่ ดร.เกษรา เปิดเผยว่าความเป็นเมือง ไม่ใช่เพียงการนำคนมาอยู่ร่วมกันเท่านั้น หากมองแค่นี้จะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาล แต่จะต้องมีการพัฒนาความเป็นเมืองแบบมีนัยยะ ทุกอย่างต้องทำแล้วคุ้มค่าและมีทิศทาง ขณะเดียวกัน เมืองคืออุปสงค์ขนาดใหญ่ เนื่องจากอยู่รวมกัน มีความต้องการมาก ดังนั้นเมืองที่ดีจะต้องมีอุปสงค์และอุปทานที่เท่าเทียม กระจายรายได้ดี แต่ตอนนี้ กทม. มีค่าครองชีพสูง แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควร 

นอกจากนี้ ตามข้อมูลพบว่าประชากรคนกรุงเทพฯ มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่เมืองแห่งนี้ยังมีปัญหาที่ทำให้ กทม. ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิง ทั้งความเหลื่อมล้ำของรายได้ ต้นทุนการใช้ชีวิต ทำให้นโยบายของทีมเพื่อนชัชชาติกำหนดเป้าหมายหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ทำให้ค่าครองชีพของคนกรุงเทพฯ ลดลง ช่วยแบกรับภาระในการใช้ชีวิต เช่น มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก บ้านพักคนชรา ให้ผู้หญิงมีเวลาในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ชัชชาติ 220323_4.jpgชัชชาติ_2203235_0.jpgชัชชาติ _220323_7.jpg

ความเหลื่อมล้ำ-คอร์รัปชัน ทำให้เมือง 'แพง' 

ด้าน ดร.ธานี ชี้ให้เห็นคำว่า 'แพง' ของคนกรุงเทพฯ ว่าอาจจะไม่เท่ากัน เนื่องจากความเหลื่อมล้ำที่สูง คำว่าแพงจึงอาจจะเป็นจริงเฉพาะกับคนบางกลุ่มเท่านั้น ปัญหาใหญ่อีกประการคือ คนกรุงเทพฯ ขาดความหวังที่จะมีชีวิตที่ดี ความสิ้นหวังนำมาสู่การขาดความเชื่อมั่น ไปจนถึงขาดความร่วมมือ ดังนั้น หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. จึงควรเป็นการสร้างความหวัง และขจัดปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นหัวใจของการนำความเชื่อมั่นของคนกรุงเทพฯ กลับคืนมา 

สอดคล้องกับ ดร.กิริฎา ที่มองว่าการคอร์รัปชันก็เป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มต้นทุนให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ ขณะที่การมอบสวัสดิการบางอย่าง เช่น เงินสนับสนุน หรือลดค่าเช่าแผง ก็ทำได้ แต่ต้องทำอย่างมีขอบเขต และสร้างความยั่งยืน ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ สามารถพึ่งตนเอง และจ่ายภาษีให้ กทม. เพื่อนำทุนไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่อไป