ไม่พบผลการค้นหา
สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (8 ก.ย.) เพื่อออกพระนาม สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรและเคือจักรภพ อดีตเจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมาร ในทันที ภายหลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ ทั้งนี้ จะมีอีกหลายขั้นตอนตามโบราณราชประเพณี ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงสวมพระมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด

การออกพระนามพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

สำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุอย่างเป็นทางการ ให้ทุกหน่วยงานและประชาชนออกพระนามพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เป็น สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 โดยพระองค์เป็นพระบุตรองค์โตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และพระองค์ได้ทรงเลือกพระนามชาร์ลส์ในการทรงราชย์ จากพระนามเมื่อพระราชสมภพเต็มอย่าง ชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ

อย่างไรก็ดี เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ พระราชบุตรพระองค์โตของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะยังไม่ได้ทรงขึ้นเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ ตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักร หลังจากพระบิดาทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในทันที ซึ่งพระองค์จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระบิดาในภายหลัง นอกจากนี้ พระองต์จะสืบทอดตำแหน่งดยุกแห่งคอร์นวอลล์ต่อจากพระราชบิดา โดยเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงแคทเธอรีน จะทรงบรรดาศักดิ์เป็นดยุกและดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์และเคมบริดจ์

นอกจากนี้ พระมเหสีของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อย่างเจ้าหญิงคามิลลา จะฉลองพระยศเป็นสมเด็จพระราชินีคามิลลาในฐานะพระราชินีมเหสีของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร

AFP - สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2


พิธีทรงราชย์อย่างเป็นทางการ

ตามธรรมเนียมสหราชอาณาจักร เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งสวรรคต มกุฎราชกุมารจะทรงขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทันที ตามทำเนียมการกล่าวคำไว้อาลัยและสรรเสริญว่า “กษัตริย์พระองค์เก่าสวรรคตแล้ว ขอกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงพระเจริญ” ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะได้รับการประกาศเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการในวันเสาร์นี้ (10 ก.ย.) ผ่านการจัดพิธีการที่เรียกว่า ‘สภาภาคยานุวัติ’ ในพระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน

สภาภาคยานุวัติจะประกอบไปด้วยสมาชิกของคณะองคมนตรี ได้แก่ กลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสทั้งในอดีตและปัจจุบันและขุนนางเพียร์ เช่นเดียวกับข้าราชการระดับสูงบางคน ข้าหลวงใหญ่เครือจักรภพ และนายกเทศมนตรีลอนดอน

ในทางทฤษฎีนั้น จะมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมกระบวนการของสภาภาคยานุวัติมากกว่า 700 คน แต่จำนวนที่แท้จริงอาจจะน้อยกว่านี้มาก โดยในการประชุมสภาภาคยานุวัติครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2495 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 สวรรคต และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ต่อ

ในที่ประชุม ประธานองคมนตรีแห่งสภาองคมนตรี จะประกาศการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ และจะมีการอ่านออกเสียงคำประกาศดังกล่าว โดยถ้อยแถลงจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ตามธรรมเนียมแล้วมักมีการสวดอ้อนวอนและกล่าวคำปฏิญาณ ตลอดจนกล่าวยกย่องพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน และให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

ถ้อยแถลงนี้จะถูกลงนามโดยบุคคลอาวุโสหลายคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี และประธานศาลสูงสุด อย่างไรก็ดี พิธีการเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือปรับปรุง อันจะเป็นการส่งสัญญาณของยุคใหม่ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่


พระราชดำรัสครั้งแรกของพระราชาพระองค์ใหม่

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จมายังการประชุมครั้งที่ 2 ของสภาภาคยานุวัติ พร้อมกันกับสภาองคมนตรี อย่างไรก็ดี พิธีการดังกล่าวมิใช่ “การสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง” ในการเริ่มทรงราชย์ของพระเจ้าอยู่หัวอังกฤษ ซึ่งแตกต่างออกไปจากประมุขของประเทศอื่นๆ อาทิ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงออกพระราชดำรัสครั้งแรก และทรงทำพิธีตามโบราณราชประเพณี นับย้อนไปได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 คือ พระองค์จะทรงสาบานว่าจะทรงรักษาเอาไว้ซึ่งคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์

หลังจากการประโคมของเจ้าหน้าที่เป่าแตร จะมีการประกาศต่อสาธารณชนว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พิธีนี้จะกระทำขึ้นบนระเบียงด้านบนของฟรายอารี คอร์ต ในพระราชวังเซนต์เจมส์ โดยการดำเนินพิธีการของเจ้าหน้าที่ที่รู้จักในชื่อเจ้าหน้าที่ตราอาร์มพระจำองค์ หรือ Garter King of Arms 

จะมีการประกาศเฉลิมพระชนม์พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครองพระราชา” หรือ “God save the King” และจะเป็นครั้งแรกรับตั้งแต่ปี 2495 ที่สหราชอาณาจักรจะบรรเลงเพลิงชาติภายใต้ชื่อ“ขอพระเจ้าคุ้มครองพระราชา” หรือ “God save the King” หลังจากที่ใช้ชื่อเป็น “ขอพระเจ้าคุ้มครองพระราชินี” หรือ “God save the Queen” มากว่า 70 ปี

หลังจากนั้น จะมีการยิงสลุตในสวนไฮด์พาร์ค หอคอยแห่งลอนดอน และจากเรือเดินทะเล และคำประกาศที่ประกาศว่าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงราชย์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะถูกอ่านในเอดินบะระของสกอตแลนด์ คาร์ดิฟฟ์ของเวลส์ และเบลฟัสต์ของไอร์แลนด์เหนือด้วย

AFP - สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2


พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จุดสูงสุดเชิงสัญลักษณ์ของการกระทำภาคยานุวัติจะเป็นพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้รับการสวมพระมงกุฎอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเหตุผลจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการพระราชพิธี พิธีบรมราชาภิเษกจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นครองพระราชบัลลังก์ในเดือน ก.พ. 2495 แต่ไม่ได้ทรงสวมพระมงกุฎจนกระทั่งเดือน มิ.ย. 2496

ในช่วง 900 ปีที่ผ่านมา พิธีบรมราชาภิเษกถูกจัดขึ้นที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ โดยมีวิลเลียมผู้พิชิตเป็นพระราชาพระองค์แรก ที่ได้รับการสวมมงกุฎที่นั่น และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นพระองค์ที่ 40 โดยพระราชพิธีจะถูกดำเนินโดยศาสนจักรแห่งอังกฤษ และนำพิธีโดยอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ทั้งนี้ ในช่วงเด่นของพระราชพิธี อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะวางพระมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดไว้บนพระเศียรของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเป็นมงกุฎทองคำแท้ที่มีอายุตั้งแต่ปี 2214

พิธีนี้คือจุดศูนย์กลางของมงกุฎเพชร ที่มีน้ำหนักกว่า 2.23 กิโลกรัม ณ หอคอยแห่งลอนดอน และมีเพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะสวมมงกุฎนี้ในช่วงเวลาของพิธีบรมราชาภิเษก โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีรัฐบาลเป็นเจ้างาน ต่างจากงานอภิเษกสมรส อย่างไรก็ดี รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงิน และตัดสินใจเลือกรายชื่อแขกผู้เข้าร่วมในท้ายที่สุด

ในพระพระราชพิธีจะมีดนตรี การอ่านคัมภีร์ และพิธีกรรมการเจิมกษัตริย์องค์ใหม่ โดยใช้น้ำมันจากส้ม กุหลาบ อบเชย มัสค์ และแอมเบอร์กริส พระราชาพระองค์ใหม่จะทรงสถาปนาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อหน้าผู้เฝ้าดูจากทั่วทุกมุมโลก ในระหว่างพิธีอันวิจิตรบรรจงนี้ พระองค์จะได้รับลูกแก้วและคทาเป็นสัญลักษณ์ของบทบาทใหม่ของพระองค์ ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ และอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะสวมมงกุฎทองคำลงบนพระเศียรของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

AFP - สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2


ประมุขแห่งเครือจักรภพ

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงขึ้นเป็นประธานของประเทศเครือจักรภพ ซึ่งมีรัฐเอกราชอยู่ร่วมเป็นสมาชิกกว่า 56 รัฐ และประชากรกว่า 2.4 พันล้านคน โดย 14 ประเทศในเครือจักรภพ เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรนั้น จะมีสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นพระประมุข

ประเทศเหล่านี้ในเครือจักรภพประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย แอนติกาและบาร์บูดา บาฮามาส เบลีซ แคนาดา เกรนาดา จาเมกา ปาปัวนิวกินี เซนต์คริสโตเฟอร์และเนวิส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ นิวซีแลนด์ โซโลมอน และหมู่เกาะตูวาลู


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/uk-59135132?fbclid=IwAR1C_juL85rueAb8p6hIsNxhBslu5ibbjUnHtihhYyfMuDrjnLQHq869smM