ไม่พบผลการค้นหา
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมชาติพันธมิตร ขึ้นกล่าวบนเวทีที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ด้วยความโกรธเกรี้ยว เพื่อกล่าวโจมตีการขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย พร้อมกับการสัญญาว่า พวกตนจะเดินหน้าการให้การสนับสนุนยูเครน ที่กำลังเผชิญหน้ากับการระดมกำลังพลของรัสเซีย และความพยายามในการผนวกดินแดนของตนไปเป็นของรัสเซียด้วย

โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยังกล่าวไม่ให้ความสนใจกับการระดมกำลังพลเพิ่มของปูติน เพื่อยกระดับการทำสงครามในยูเครน พร้อมย้ำว่ายูเครนจะเดินหน้าการโจมตีตอบโต้ เพื่อยึดคืนพื้นที่ที่ถูกยึดไปจากรัสเซีย และขัดขวางไม่ให้มีช่องว่างในการระดมกำลัง และการระดมพลเพื่อรุกล้ำเข้ามาในดินแดนของยูเครน

“เราสามารถเชิญธงชาติยูเครนคืนไปยังอาณาเขตทั้งหมดของเราได้ เราสามารถทำได้โดยใช้กำลังอาวุธ แต่เราต้องการเวลา” เซเลนสกีกล่าวในเทปบันทึกไว้ล่วงหน้า ต่อที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งรัสเซียพยายามคัดค้านการฉายวิดีโอของเซลเนสกี แต่กลับได้รับการโหวตอย่างท่วมท้นจากรัฐสมาชิกให้ฉายสุนทรพจน์ของเซเลนสกี “รัสเซียต้องการใช้เวลาช่วงฤดูหนาวในดินแดนที่ถูกยึดครองของยูเครน… มันต้องการที่จะเตรียมป้อมปราการบนดินแดนที่ถูกยึดครอง และดำเนินการระดมกำลังทหารที่บ้านตน เราไม่สามารถเห็นด้วยกับการทำสงครามที่ช้าออกไป เพราะมันจะร้อนแรงกว่าสงครามในตอนนี้”

ทั้งไบเดนและเซเลนสกีเองพยายามหาหนทาง ในการโดดเดี่ยวรัสเซียออกประชาคมโลก ในขณะที่เกาหลีเหนืออกมาแก้ข่าวก่อนหน้านี้ พร้อมชี้ว่าตนไม่ได้ส่งอาวุธใดๆ ให้แก่รัสเซีย หลังจากมีรายงานข่าวว่ารัสเซียอาศัยการนำเข้าอาวุธจากเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ ในการแถลง ณ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) ไบเดนพยายามผนึกประชาคมนานาชาติเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไบเดนเรียกว่าเป็นภัยคุกคาม “อันบ้าบิ่น” และ “การละเมิดอย่างรุนแรงชัดเจน” ต่อกฎบัตรสหประชาชาติ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้เวลาในการกล่าวบนเวทีนานนับชั่วโมง หลังจากปูตินออกแถลงในประเทศตนเอง เพื่อการระดมกำลังพลเพิ่ม นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา และออกมาเตือนว่า ประเทศของตนมี “อาวุธจำนวนมากที่จะใช้ในการตอบโต้” ต่อสิ่งที่ปูตินเรียกว่าเป็นภัยคุกคามจากตะวันตกต่อดินแดนของตน ในขณะที่ทางการสหรัฐฯ ออกมายืนยันว่า พวกตนจะยังคงให้การสนับสนุนยูเครนอย่างไม่เสื่อมคลาย พร้อมชี้ว่าความพยายามล่าสุดของปูตินเป็น “การกระทำในนามความอ่อนแอ” และ “ความสิ้นหวัง”

ไบเดนพยายามชี้ว่าปูตินและ “ความทะเยอทะยานในเชิงจักรวรรดิ” เป็นภัยคุกคามต่อคุณค่าพื้นฐานที่ก่อตั้งสหประชาชาติขึ้นมา พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาให้การสนับสนุนยูเครน อีกทั้งเรียกร้องให้ชาติกำลังพัฒนาก้าวเดินออกจากท่าทีของการวางตัวเป็นกลาง 

“สงครามครั้งนี้เป็นการระงับสิทธิของยูเครน ในการดำรงอยู่ในฐานะรัฐ อธิบายอย่างธรรมดาและเรียบง่ายเลย และสิทธิของยูเครนในการดำรงอยู่ในฐานะประชาชน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน มาจากที่ใด ไม่ว่าคุณจะเชื่ออะไร นั่นจะทำให้คุณหวาดกลัว” ไบเดนกล่าว “เพราะหากประเทศต่างๆ สามารถไล่ตามความทะเยอทะยานของจักรวรรดิโดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เราก็ยอมเสี่ยงจากทุกอย่างที่สถาบันแห่งนี้ยึดมั่นอยู่”

ในการแถลงของเซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนตอกย้ำถึงการค้นพบหลุมศพฝังหมู่กว่า 440 ร่าง ในพื้นที่อีเซียมที่ตนเพิ่งสามารถยึดคืนมาได้จากรัสเซีย พร้อมกันนี้ เซเลนสกีชี้ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ร่างที่ถูกพบมีร่องรอยถูกรัดคอ อีกหลายร่างถูกตัดอวัยวะเพศก่อนถูกสังหาร เซเลนสกีย้ำต่อประชาคมโลกว่าเหตุในลักษณะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เซเลนสกียังกล่าวในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติอีกว่า “ถามหน่อยเถอะ ท่านผู้แทนรัสเซีย ทำไมกองทัพรัสเซียถึงหมกมุ่นอยู่กับการตัดตอน มีใครไปทำอะไรกับพวกเขา ถึงต้องทำเรื่องเช่นนี้กับคนอื่นๆ” 

แต่ในการปราศรัยของสหประชาชาติเมื่อวันพุธ ไบเดนพยายามพูดให้ชัดเจนว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรจะไม่ถูกขัดขวางจากการสนับสนุนการต่อสู้ของยูเครน เพื่อปกป้องดินแดนของตน “รัสเซียละเมิดหลักการสำคัญของกฎบัตรสหประชาชาติอย่างไร้ยางอาย ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการเข้ามาห้ามที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประเทศต่างๆ ยึดดินแดนเพื่อนบ้านโดยการใช้กำลัง” ไบเดนกล่าว

“เครมลินกำลังจัดประชามติที่หลอกลวง เพื่อพยายามผนวกส่วนต่างๆ ของยูเครน ซึ่งเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง โลกนี้ควรเห็นการกระทำที่อุกอาจเหล่านี้ สำหรับสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่” ไบเดนกล่าวถึงความพยายามในการเปิดประชามติผนวกดินแดน 4 พื้นที่ของยูเครนเข้าเป็นของตนเองโดยรัสเซีย 

“อีกครั้ง ในวันนี้ ประธานาธิบดีปูตินได้แสดงการคุกคามอย่างเปิดเผยต่อยุโรป และเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบของระบอบการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์อย่างเปิดเผย” ไบเดนกล่าวพร้อมระบุเสริมว่า “ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ที่ไร้ความรับผิดชอบ” ดังกล่าว ขัดแย้งโดยตรงต่อความรับผิดชอบระหว่างประเทศของรัสเซียและข้อตกลงกับแถลงการณ์ร่วมของมหาอำนาจอาวุธนิวเคลียร์เมื่อต้นปีนี้ว่า “สงครามนิวเคลียร์ไม่สามารถชนะได้และต้องไม่มีวันนำมารบสู้”

ไบเดนพยายามแสวงความสนับสนุนจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มองว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ นอกจากนี้ ไบเดนเสนอว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งจะสนับสนุนเงินอีกหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก และความพยายามในการควบคุมการระบาดของโรค เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยอมรับว่า การเพ่งเล็งประเด็นไปที่ยูเครน ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศจากซีกโลกใต้รู้สึกกังวล ว่าพวกตนจะถูกละเลยในการประลองอำนาจครั้งใหญ่นี้

ในสุนทรพจน์ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามที่จะจัดการกับความกลัวเหล่านั้น โดยให้คำมั่นว่าตนจะมอบเงิน 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.08 แสนล้านบาท) เพื่อความมั่นคงด้านอาหารในปีนี้ และอีก 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.24 แสนล้านบาท) สำหรับกองทุนโลกเพื่อการต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย นอกจากนี้ ไบเดนยังสนับสนุนการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงที่ครอบคลุมมากขึ้น และสถานะการเป็นตัวแทนสมาชิกถาวรและไม่ถาวร ซึ่งรวมถึงที่นั่งถาวรสำหรับประเทศต่างๆ จากแอฟริกา ละตินอเมริกา และแคริบเบียน


ที่มา:

https://www.theguardian.com/us-news/2022/sep/21/joe-biden-putin-nuclear-weapons-ukraine-un-general-assembly?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR2R3Vl9k-wSpWVUfzxFVsArAScBYmQ1RC9aJixEwRh0ulKAoK3rGMdVXUM