เมื่อเวลา 16.15 น. วันที่ 21 ก.ย. 2565 ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริง” ในงาน ESG FORUM โดย ชัชชาติ กล่าวว่า หลังจากเป็นผู้ว่าฯ กทม. มา 3 เดือน ถามว่าเห็นศักยภาพของกรุงเทพมหานครไหม ต้องตอบว่าเห็นมาก เห็นจริง ๆ โดยศักยภาพ หมายถึง อำนาจหรือคุณสมบัติที่แฝงอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ที่อาจทำให้พัฒนา หรือทำให้ปรากฏขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกรุงเทพมหานครเหมือนเพชรที่ยังไม่ได้รับการเจียระไน หากเจียระไนให้ดีคิดว่าคงเปล่งประกายไม่แพ้ชาติอื่น ไม่แพ้เมืองอื่นในโลก
“ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีงบประมาณ เพราะเป็นช่วงปลายปีงบประมาณแล้ว ดังนั้น ศักยภาพที่แท้จริงของกรุงเทพมหานคร คือ ‘คน’ ถ้าเราสร้างแรงบันดาลใจได้ เป็นความหวังให้เขาได้ ผมว่ามีพลังมหาศาลเลย เชื่อว่าพวกเราทุกคนสามารถจะเปลี่ยนเมือง และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อุปสรรคของการเจียระไนเพชรเม็ดนี้มีหลายปัญหา อาทิ ภาวะความเป็นผู้นำ การสร้างแรงบันดาลใจ การกระจายอำนาจ ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจ การมีส่วนร่วม การนำความคิดสร้างสรรค์ประชาชนมาเป็นคำตอบให้เมือง รวมไปถึงเรื่องของความไว้วางใจ เป็นต้น
จากนั้น ชัชชาติได้บรรยายถึง 4 หัวข้อ ได้แก่ 1. ปัจจุบัน 2. อนาคต วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์เมือง 3. สร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริง และ 4. การสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดย ชัชชาติ กล่าวว่า ก่อนที่เราจะวางแผนอนาคตได้เราต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เราต้องพูดถึงปัจจุบันก่อน เพื่อจะแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครให้ก้าวต่อไปในอนาคตได้
สำหรับจุดแข็งของ กทม. คือ เรื่องค่าครองชีพ โครงสร้างพื้นฐานครอบคลุม การเป็นพหุวัฒนธรรม ฯลฯ และจุดอ่อนได้แก่ เรื่องความโปร่งใส ความสะดวกในการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ปัญหาฝุ่น PM2.5 การบริหารจัดการน้ำ การจราจร สัดส่วนพื้นที่สีเขียว การขาดอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ เป็นต้น
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การที่เมืองจะเจริญได้ เมืองต้องดึง สร้างคนเก่ง ไม่มีเมืองใดที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีคนเก่งอยู่ในเมือง เพราะศักยภาพของเมืองจึงขึ้นอยู่กับ “คน”
จากนั้นได้กล่าวถึงตัวเลข 1 และ 98 และวิสัยทัศน์ “กรุงเทพฯ : เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” 9 นโยบายหลัก 216 แผนปฏิบัติการ และเป้าหมายในการเป็น 1 ใน 50 อันดับเมืองน่าอยู่ของโลกภายในปี 2570
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า หน้าที่ของกทม. ประกอบด้วย 1. เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง 2. ปรับปรุงคุณภาพชีวิต 3. สร้างโอกาสสำหรับทุกคน และ 4. สร้างความเชื่อมั่น พร้อมได้ยกตัวอย่างโครงการต่าง ๆ ที่เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง สวน 15 นาที การแยกขยะอย่างเต็มรูปแบบ การคมนาคมที่ครอบคลุมเส้นเลือดใหญ่เส้น-เลือดฝอย วางแผนระยะยาวในการจัดการน้ำ การทำพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน จัดการจราจรด้วยระบบเอไอ ฯลฯ
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สิ่งสำคัญของเมืองคือเศรษฐกิจ และเมืองคือตลาดแรงงาน หน้าที่ของ กทม.จึงต้องสร้างงานที่ดี มีผู้จ้างที่ดี เพื่อที่จะมีคนมาจ่ายภาษี นำรายได้มาหมุนเวียนพัฒนาเมืองต่อไปได้ โดยทิศทางส่งเสริมศักยภาพใหม่ให้กับเมือง มีด้วยกัน 7 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ อัญมณี ธุรกิจ MICE ศูนย์กลางของ MNCs โครงการ EEC ที่ขยายออกไป
“ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล วิชาการ เอกชน และประชาชน หากเราสามารถสร้างความศรัทธาและความหวังในระบบประชาธิปไตย จะเป็นการสร้างศักยภาพสำคัญของเมืองในอนาคต เพราะ ‘คน’ คือศักยภาพที่สำคัญที่สุดของเมือง” ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย