ไม่พบผลการค้นหา
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสระบุกับสื่อมวลชนว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียให้การรับรองกับตนว่า กองทัพรัสเซียจะไม่มีการยกระดับการระดมกำลังพลของตนเองในบริเวณชายแดนที่ติดกันกับยูเครน เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นไปมากกว่าปัจจุบัน

“ผมรับประกันว่า (สถานการณ์) จะไม่เลวร้ายลงหรือถูกยกระดับขึ้น” มาครงในฐานะตัวกลางการเจรจาระหว่างชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) รัสเซีย และยูเครน ระบุ ในขณะที่รัสเซียออกมาเปิดเผยว่า ข้อเสนอแนะใดๆ ที่ทางชาติตะวันตกเสนอมาในการรับประกันหลักการให้แก่รัสเซียยังคง “ไม่ถูกต้อง” โดยปัจจุบันนี้ รัสเซียมีกองกำลังแล้วอย่างน้อย 100,000 นายประชิดชายแดนยูเครนอยู่

ความขัดแย้งในระลอกนี้ เกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งเมื่อ 8 ปีก่อนในบริเวณคาบสมุทรไครเมียระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก่อนที่ทั้งสองชาติจะลงนามกันในสนธิสัญญาสันติภาพมินสค์ ในปี 2558 เพื่อการหยุดยิง อย่างไรก็ดี รัสเซียอ้างว่ายูเครนทำผิดจากสนธิสัญญาที่มีเยอรมนีและฝรั่งเศสหนุนหลัง โดยรัสเซียระบุว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีประชาชนอย่างน้อย 14,000 รายถูกสังหาร ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างทั้งสองชาติแล้ว

ความขัดแย้งตึงเครียดยกระดับมากยิ่งขึ้นเมื่อยูเครนที่มีพรมแดนติดกันกับรัสเซีย พยายามขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งมีชาติสมาชิกเป็นสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปหลายชาติ ในการคานอำนาจกับรัสเซียในปัจจุบัน หรืออดีตสหภาพโซเวียต ความตึงเครียดจึงปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อรัสเซียระดมกำลังพลของตนเองประชิดชายแดนยูเครน โดยสหรัฐฯ คาดว่าว่า รัสเซียมีกองทัพพร้อมต่อการรุกรานยูเครนแล้ว 70% และอาจบุกโจมตียูเครนในช่วงกลางเดือนนี้

มาครงออกเดินทางจากฝรั่งเศส บินตรงมายังกรุงมอสโกของรัสเซียเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา และได้เข้าพูดคุยกับปูตินเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี การพูดคุยดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ในการหาทางออกให้กับวิกฤตในครั้งนี้ ก่อนที่ในวันต่อมา (8 ก.พ.) มาครงจะเดินทางต่อไปยังกรุงเคีนฟของยูเครน และเข้าพบกับ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อหา “ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม” มากยิ่งขึ้น

เซเลนสกีระบุหลังการหารือกับมาครงว่า ตนเองต้องการให้ปูตินออกมาตรการที่จริงจังและชัดเจนในการลดความตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครน-รัสเซียลง “ผมไม่ไว้ใจเพียงแต่คำพูด ผมเชื่อว่านักการเมืองจะต้องมีความโปร่งใส ด้วยการออกขั้นตอนที่เป็นรูปธรรม” ในขณะที่ปูตินระบุว่า จากการพูดคุยกับมาครง รัสเซีย “สามารถสร้างข้อแถลงร่วมกันในทางพื้นฐานได้” แต่ยังคง “เร็วเกินไปที่จะพูดในเชิงรายละเอียด”

ทางการฝรั่งเศสยังได้ระบุกับสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า ผู้นำทั้งสองตกลงร่วมกันว่ารัสเซียจะถอนกำลังออกจากเบลารุส เพื่อหยุดการซ้อมรบในบริเวณชายแดนทางตอนเหนือของยูเครน ในขณะที่ทางการรัสเซียออกมาระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวยังคงไม่ได้เกิดขึ้น แต่รัสเซียจะมีการถอนกำลังออกในอนาคตเมื่อเวลาใดเวลาหนึ่งมาถึง

มาครงจะเดินทางต่อมายังกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เพื่อเข้าพบกับ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และ อันด์แชย์ ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์ เพื่อออกแถลงการณ์ร่วมกันในการคงการให้ความสนับสนุนอำนาจอธิปไตยของยูเครน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ โชลซ์ ได้เดินทางไปยังกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ เพื่อเข้าพบกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อพูดคุยกันในประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว และเตรียมมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในเรื่องท่อก๊าซ หากรัสเซียบุกยูเครนจริง

ความตึงเครียยังคงเดินหน้าต่อไป เนื่องจากข้อตกลงที่ยังไม่ลงตัวระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซีย โดยทางการรัสเซียเรียกร้องให้ชาติตะวันตกไม่รับรองการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของยูเครน ตลอดจนการหยุดขยายอิทธิพลของพันธมิตรตะวันตกเข้ามายังยุโรปตะวันออก อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของรัสเซียยังคงถูกพันธมิตรตะวันตกปฏิเสธ

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-60299790

https://www.aljazeera.com/news/2022/2/8/macron-says-putin-told-him-russia-wont-escalate-ukraine-crisis