ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน ป.ป.ช. ชี้งานต้านทุจริตไม่ได้ราบเรียบ แต่ต้องต่อสู้ พร้อมดันงบบูรณาการต้านทุจริตให้ ครม.บรรจุในงบรายจ่ายปี 63 คาดนำเข้า ครม.อังคารนี้ เพื่อมุ่งสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ หัวข้อ “การผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สู่ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” ปี 2562 พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ปาฐกถาระบุว่า การทำงานทุกอย่างไม่ได้ราบเรียบ จะต้องต่อสู้ ตอกย้ำหรือทำซ้ำๆ เพื่อชี้ให้ผู้นำของประเทศ เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาทุจริต โดยยกตัวอย่างงบประมาณบูรณาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ขับเคลื่อนร่วมกับหลายหน่วยงาน 

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้บรรจุ"หลักสูตรต้านทุจริต" ในปีการศึกษา 2563 แล้ว และงบประมาณส่วนนี้จะใช้บูรณาการและขับเคลื่อนของหน่วยงานต่าง รวมถึง "ชมรม Strong จิตพอเพียงต้านทุจริต" เพื่อเฝ้าระวังสอดส่องดูแลและตรวจสอบการทุจริตในพื้นที่จังหวัดของตัวเองด้วย โดย ประธาน ป.ป.ช. ได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้บรรจุงบบูรณาการฯ ในร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ด้วย และคาดว่าจะนำเข้า ครม.ในวันอังคาร ที่ 20 สิงหาคมนี้ ชมรม Strong จิตพอเพียงต้านทุจริตเพื่อเฝ้าระวังสอดส่องดูแลและตรวจสอบการทุจริตในพื้นที่จังหวัดของตัวเอง

สำหรับชอบยุทธศาสตร์การป้องกันทุจริตนั้น รัฐบาล คสช.ได้มีมติครม.เห็นชอบยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันทุจริตระยะที่ 3 ปี 2560 -​2564 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 โดยให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำแนวทางและมาตรการกำหนดแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ซึ่งทุกแผนงานจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ในระดับต่างๆ ทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนปฏิรูปประเทศด้านที่ 11 ในระยะ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายให้การทุจริตในประเทศลดน้อยลงประเทศ มีความโปร่งใสมากขึ้น และมีกลไกในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ที่เน้นการพัฒนาความร่วมมือทุกภาคส่วน มีตัวชี้วัดความโปร่งใสนานาชาติที่สอดคล้องผ่านเครื่องมือ "ดัชนีการรับรู้การทุจริต" หนือ CPI

ประธาน ป.ป.ช.กล่าวด้วยว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึง "สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต" ทั้งการเปิดโครงการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้, การเปิดโปงกรณีอาหารกลางวันนักเรียน, การเปิดโปงพฤติกรรมของข้าราชการในการใช้รถหลวงหรือทรัพย์สินของทางราชการ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ตลอดจนสอดส่องเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตในพื้นที่หลายจังหวัด

โดยมีการติดตามและเฝ้าระวังโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่นักวิชาการและสื่อมวลชนร่วมกันทำงานด้วย ส่วนดำเนินการกับผู้กระทำผิดที่ผ่านมามีทั้ง โครงการระบายข้าวจีทูจี และหลายโครงการที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตโครงการก่อสร้างโรงพักตำรวจและการก่อสร้างสนามฟุตซอล ตลอดจนคดีที่ที่ศาลตัดสินแล้วอื่นๆ ซึ่งรวมถึงกรณีเงินทอนวัด     

โดย ป.ป.ช.มี 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1)​ สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต 2)​ ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต 3)​ สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย โดยเฝ้าระวังการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐ 4) พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก ผ่านการพัฒนานวัตกรรมของหน่วยงานภาครัฐ 5)​ ปฏิรูปกลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริต 6) ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI