ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ตรวจการจราจรอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ ฉะโครงการ กทม. 14 จุด ไม่เสร็จสักจุด เผยเลยระยะสัญญากว่าร้อยวัน ทำรถติดซ้ำซาก ส่วนปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยันไม่จำเป็นต้องคุย ครม. ย้ำจุดยืนต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน แจงไม่ได้ถูกแท็กซี่ปฏิเสธ แต่คนขับรอลูกค้า Grab

เมื่อเวลา 14.40 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ดูการก่อสร้างอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ และสำรวจสภาพการจราจร พร้อมว่าที่ ส.ก.เขตธนบุรี จิรเสกข์ วัฒนมงคล พรรคเพื่อไทย และเขตบางกอกใหญ่ วิรัช คงคาเขตร พรรคประชาธิปัตย์

โดย ชัชชาติ กล่าวว่า หลังจากที่ลงดูปัญหาน้ำท่วม ที่คลองลาดพร้าวเมื่อวานนี้แล้ว ปัญหาต่อไปก็คือปัญหาการจราจร ในวันนี้จึงลงพื้นที่บริเวณแยกรัชดา -ท่าพระ ซึ่งมองว่า เขตธนบุรีเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาหนักสุด จุดนี้เป็นอุโมงค์ ซ่อมถนนและลอกท่อประปา รวมไปถึงนำสายไฟฟ้าลงดิน ที่ผ่านมามีการขยายสัญญามาโดยตลอด ซึ่งมีความล่าช้ามากว่า 600 วันแล้ว และงานตอนนี้ยังไม่คืบหน้า ทำให้การจราจรติดขัดยาวนาน ปัจจุบัน กทม.มีโครงการต่อก่อสร้างหลักๆ 14 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีความล่าช้ามากกว่า 100 วัน บางโครงการก็สิ้นสุดสัญญาไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถคืนพื้นผิวจราจรได้ ซึ่งตนรู้สึกตกใจมาก แต่ต้องไปดูรายละเอียดว่าเพราะเหตุใดถึงล่าช้า 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องจราจร เนื่องจากมีการสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย ซึ่งกทม.ต้องเร่งรัดในการจัดการจราจร ที่สำคัญคือ การนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง มีการปิดพื้นผิวการจราจรที่ยังขรุขระ 

S__10174553.jpg

ส่วนจะเร่งรัดการทำโครงการได้มากแค่ไหนในวาระ 4 ปี ตนขอไปดูข้อมูลก่อน ดูรายละเอียดสัญญา เพราะมองว่าการล่าช้าเช่นนี้ต้องมีอะไรผิดปกติ และต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมองว่าการต่อสัญญาต้องคิดมาดีแล้ว ไม่ใช่ว่าจะบอกว่าใครทุจริต แต่อีกด้านก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชน 

เมื่อถามถึงกรณี การต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ยังไม่มีการพิจารณา เนื่องจากครม.ยังรอความเห็นจากผู้ว่ากทม.คนใหม่ก่อนนั้น จะเป็นเผือกร้อนหรือไม่ ชัชชาติ ระบุว่า คงไม่ เพราะทุกอย่างไม่ได้ใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุว่า โดยจะต้องไปดูในรายละเอียด3เรื่องคือ เรื่องหนี้ เรื่องสัญญาเดินรถ และเรื่องการต่อสัญญา 40 ปี โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งคงต้องถามกลับไปว่าทำไมถึงต้องต่อสัญญาสัมปทานถึง 40 ปี โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะ พ.ร.บ.ร่วมทุน มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่มีคนนอกหน่วยงานมาดูแลไม่ใช่แค่คณะกรรมการชุดเล็กๆที่ตั้งขึ้นมา และมีการแข่งขันราคากัน ซึ่งหากมีการแข่งขันราคาก็จะได้เห็นราคาที่เป็นธรรมขึ้น และไม่ได้ที่อคติว่าผิดหรือถูก แต่เชื่อมั่นในระบบที่มี พ.ร.บ.ร่วมทุน ถ้าหากไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน คือไม่เชื่อในระบบหรือไม่ และกรณีหนี้สินค่าก่อสร้างที่รัฐบาลโอนมาให้ กทม. กว่า 6หมื่นล้านผ่านขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ และสภากทม.รับรองมีมติหรือยัง ซึ่งหากมีมติรับถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องว่าไปตามหลักการ รวมถึงสัญญาจ้างการเดินรถ ถูกกฎหมาย มี พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ เพราะเป็นสัญญาจ้างระยะยาว

S__10174554.jpg

ทั้งนี้ กทม.คงไม่ได้ไปพูดคุยกับรัฐบาลโดยตรง แต่จะส่งเป็นหนังสือชี้แจงถึงความเห็นเข้าไปเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งกทม.เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจของรัฐบาล และมองว่าควรคิดให้รอบคอบก่อนเพราะถ้าผ่านครม.แล้วคงแก้ไขยาก เพราะครม.เองยังมีการเห็นแย้ง ดังนั้นคงไม่ผิดที่จะขอดูให้ละเอียดก่อน เป็นเรื่องเหตุผล ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ และส่วนตัวยืนยันในหลักการ ว่า หากไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน เท่ากับไม่ตรงตามหลักการของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา อาจจะผ่าน ม.44 

ส่วนจะมีการใช้บัตรใบเดียวในการเชื่อมต่อการเดินทางหรือไม่ ชัชชาติ ระบุว่า บัตรใบเดียวสามารถเข้าทุกระบบได้ ก็สามารถเป็นไปได้ แต่ที่กังวลคือโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม ที่มีความซ้ำซ้อน เพราะบัตรใบเดียวอาจจะจ่ายแพงเนื่องจากมีค่าแรกเข้า 

S__10174550.jpg

ทั้งนี้มองว่า กทม.กับบีทีเอส ควรจะต้องหารือกันเองก่อน หากมีส่วนต่อขยายเข้ามาพื้นที่สัมปทานบีทีเอสเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีค่าแรกเข้า และหากมีโอกาสหารือกับ รฟม.ก็ควรจะหารือถึงราคาค่าแรกเข้าด้วย

นอกจากนี้ ชัชชาติ ยังกล่าวถึงกรณีที่ รสนา โตสิตระกูล อดีตผู้สมัครผู้ว่ากทม. ทวงถามสัญญาที่ให้ไว้ มีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยยืนยันว่า ตนไม่ลืม และมีการต่อสายพูดคุยกับนางสาวรสนาแล้ว และก็จะดำเนิน เชื่อว่าจะไม่ขัดผลประโยชน์กับภาคธุรกิจในประเด็นนี้


แจงไม่ได้ถูกแท็กซี่ปฏิเสธ

ชัชชาติ กล่าวถึงกรณีความเข้าใจผิดต่อคลิป ชัชชาติ ขึ้นรถแท็กซี่ แต่ปรากฏว่าไม่กี่วินาทีต่อมาได้เดินลงมาจากรถแท็กซี่คันดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลบางส่วนตีความว่าแท็กซี่คันดังกล่าวปฏิเสธผู้โดยสารหรือไม่

ชัชชาติ ระบุว่า วันนั้นเป็นวันหลังจากติดตามผลเลือกตั้ง เดิมทีตนและทีมงานจะขึ้นรภไฟฟ้า BTS กลับ แต่คืนนั้นมีคนเดินมาทักตลอดทางจึงไปไม่ถึง BTS เลยตัดสินใจขึ้นแท็กซี่ ซึ่งเราก็ขึ้นไปแต่แท็กซี่คันนั้น ปรากฎว่าเขามารอรับผู้โดยสาร Grab และคนขับก็เข้าใจว่าเราเป็นผู้โดยสาร Grab แต่ความจริงคือไม่ใช่ เขาก็เลยขอให้ลงเพราะรอผู้โดยสารที่รถเรียกมารับอยู่เท่านั้นเอง คนขับไม่ได้ปฏิเสธผู้โดยสารแต่อย่างใด

“ผมก็ต้องขอโทษที่ทำให้แท็กซี่เดือดร้อน ผมลงพื้นที่ตลอด เพิ่งได้มีโอกาสเห็นคลิปเมื่อกี้ตอนขึ้นรถ ก็ฝากกราบขอโทษพี่แท็กซี่ ไม่ได้ตั้งใจทำให้เดือดร้อนครับ เรื่องนี้เราผิดเอง เรากระโดดขึ้นไปทั้งที่เขารอผู้โดยสาร Grab อยู่” ชัชชาติกล่าว

ทั้งนี้ ชัชชาติ ฝากถึงผู้ที่ออกมาต่อว่าคนขับแท็กซี่ก่อนหน้านี้ ว่า อย่าทำอย่างนั้นเลย เรื่องนี้ตนผิดเอง ตนไม่ได้ออกมาชี้แจงและมีโอกาสได้เห็นคลิปก่อนมาลงพื้นที่เมื่อสักครู่นี้ พร้อมย้ำว่าเหตุการณ์นี้ไม่มีอะไรเลย เป็นการเข้าใจผิดของตน และตนก็ผิดเองที่ไม่ได้เปิดหน้าต่างถามคนขับก่อน แต่หลังจากนั้นตนก็ลงไปขึ้นแท็กซี่คันต่อมาก็ขึ้นได้เลยตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร