เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น ยังจะเข้ามาทำงานหลายๆอย่างแทนที่มนุษย์ได้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานจำนวนมาก
รายงานใหม่จากสถาบันระหว่างประเทศแมคเคนซี ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา ได้ทำการศึกษาผลกระทบที่หุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์กำลังเข้ามามีบทบาททำงานหลายๆอย่างแทนคน โดยได้เก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างจากหลากหลายอาชีพ มากถึง 800 อาชีพ ใน 46 ประเทศ และผลสำรวจบ่งชี้ว่า ภายในปี 2030 จะมีคนตกงาน 800 ล้านตำแหน่ง เนื่องจากถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ ซึ่งจำนวนงาน 800 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 5 ของตลาดแรงงานโลก
ตำแหน่งงานที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดเลยก็คือผู้ที่ทำงานควบคุมเครื่องจักร และแรงงานในอุตสาหกรรมอาหาร และประเทศที่ร่ำรวยจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่ยากจน เพราะว่าประเทศที่ร่ำรวยจะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่การใช้แรงงานคนได้รวดเร็วกว่า ขณะที่ประเทศยากจนยังคงต้องพึ่งแรงงานคนเหมือนเดิม เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะไปลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งในรายงานระบุว่า จำนวนแรงงานราว 30% ของประเทศร่ำรวย อย่าง เยอรมนี และสหรัฐฯ อาจต้องเข้ารับการฝึกทักษะใหม่เพื่อให้ประกอบอาชีพอื่นได้ ขณะที่ประเทศอย่างอินเดียจะมีตำแหน่งงานประมาณ 9% ที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า งานเกี่ยวกับด้านการรวบรวมข้อมูลและสถิติ เช่น เสมียน, นายหน้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ ผู้ช่วยทนายความ ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ เช่นกัน เพราะจะมีการใช้เทคโนโลยีเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ เข้ามารวบรวมและประเมินข้อมูลแทน
ส่วนงานที่ค่อนข้างปลอดภัย ว่าจะไม่ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยี ในเร็วๆนี้ คืองานที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หมายถึงงานที่ต้องมีการพูดคุยกัน เช่น หมอ, ทนายความ, ครู หรือ บาร์เทนเดอร์ รวมถึงงานที่รายได้น้อย เช่น คนสวน หรือ ช่างประปา จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะการจ้างคนเหมือนเดิมยังมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากกว่าการใช้หุ่นยนต์
รายงานฉบับนี้บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมของโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเหมือนช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งอาชีพเกษตรกรรมถูกเปลี่ยนมาเป็นงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแม้เทคโนโลยีใหม่จะเข้ามามาแทนที่อาชีพเดิมๆหลายอย่าง แต่ก็จะก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆเหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องรีบปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และส่งเสริมทักษะใหม่ๆให้ประชาชนเพื่อพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้