สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯของนายโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยอ้างว่าข้อตกลงนี้จะส่งผลเสียกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีนกำลังก้าวขึ้นบัลลังก์เจ้าแห่งพลังงานทดแทน ทั้งที่ไม่ถึง 10 ปีก่อน จีนยังมีจุดยืนต่อต้านการหันไปใช้พลังงานสะอาด โดยโต้แย้งว่า สหรัฐฯ และยุโรปตักตวงผลประโยชน์จากพลังงานสกปรกมาหลายสิบปีแล้ว ก็ถึงเวลาที่จีนจะตักตวงผลประโยชน์จากพลังงานถ่านหินบ้าง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
จีนทุ่มเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ไปกับการสร้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนหลายล้านตำแหน่ง ปัจจุบัน จีนจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวมากกว่า 2,500,000 ตำแหน่งแล้ว ในขณะที่สหรัฐฯ มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้เพียง 260,000 ตำแหน่งเท่านั้น และนายทรัมป์ยังสัญญาว่า จะทำให้คนงานชาวอเมริกันกลับไปทำเหมืองถ่านหินต่ออีกด้วย
แม้จีนจะยังใช้ถ่านหินจำนวนมหาศาล จนทำให้เกิดมลภาวะรุนแรง มีผู้ป่วยเจ็บป่วยจากมลพิษจำนวนมหาศาล แต่จีนปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินไปแล้วหลายแห่ง และวางแผนว่า จะตัดลดการจ้างงานในอุตสาหกรรมถ่านหินลงประมาณ 1,300,000 ตำแหน่ง รวมถึงออกมาตรการเข้มงวดกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ นอกจากนี้ จีนยังตั้งเป้าว่าจะลดการใช้พลังงานจากถ่านหินลง และหันมาใช้พลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2030 ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า จีนจะบรรลุเป้าหมายได้ไม่ยาก เพราะในปี 2015 จีนก็ใช้พลังงานสะอาดได้ถึงร้อยละ 12 ขณะที่สหรัฐฯ ใช้พลังงานสะอาดประมาณร้อยละ 10
การจะบรรลุเป้าหมายในปี 2030 จีนตัดสินใจทุ่มเงินลงทุนถึง 2.5 ล้านล้านหยวนหรือประมาณ 12 ล้านล้านบาทสำหรับการผลิตพลังงานทดแทนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และนิวเคลียร์จนถึงปี 2020 ซึ่งจะสร้างงาน 10 ล้านตำแหน่ง จากปัจจุบัน ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศระบุว่า มีตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของจีนอยู่ประมาณ 3,500,000 ตำแหน่ง
ลูซี ฮอร์นบี รองบรรณาธิการเดอะ ไฟแนนเชียลไทม์สประจำกรุงปักกิ่งอธิบายว่า การหันมาใส่ใจเรื่องสภาพภูมิอากาศทำให้ภาพลักษณ์ของจีนดีขึ้นในเวทีโลก แต่ความตั้งใจของรัฐบาลจีนก็ไม่ใช่เพื่อโลกโดยตรงเหมือนกับเวลาที่นายบารัก โอบามาอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงวิสัยทัศน์ แต่เป็นเพราะจีนมองเห็นโอกาสทางการค้า เพราะเมื่อทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ชาติตะวันตกพร้อมจะทุ่มเงินลงทุนมากมาย จีนจึงหวังจะเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับชาติอื่น
ดังนั้น ข้อตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้ามูลค่ามหาศาลสำหรับจีน และการที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสก็มีแต่จะทำให้จีนได้ประโยชน์ เพราะอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ อาจไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร
จีนได้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเทคโนโลยีพลังงานทดแทนหลักของโลก โดยแผงโซลาร์ 2 ใน 3 ของตลาดโลกผลิตขึ้นในจีน และผลิตกังหันลมเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้ราคาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน โดยเฉพาะแผงโซลาร์ถูกลงถึงร้อยละ 80 จากปี 2008 ถึงปี 2013 และมีแนวโน้มว่าจะถูกลงเรื่อยๆอีกด้วย