ไม่พบผลการค้นหา
'ชัยวุฒิ' โยนถาม 'ประยุทธ์' ยังอยู่ พปชร.หรือไม่ ปัดตอบข่าว พปชร.จะชงชื่อ 'ประวิตร-จักรทิพย์' เป็นแคนดิเดตแทน เชื่อ 3ป.ยังอยู่ด้วยกัน มองลูกพรรคบอกชื่อนายกฯ ขายไม่ได้เป็นความเห็นส่วนตัว เพราะ พปชร.เป็นพรรคประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการ

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกระแสยุบสภา รวมไปถึงการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ว่า ข่าวที่สื่อมวลชนออกมาบางครั้งก็ไม่มีแหล่งข่าวที่ชัดเจน เป็นสิ่งที่คาดการณ์กันไป ซึ่งวันนี้คิดว่าทุกคนก็ตั้งใจทำงานเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็ยังมีเวลาที่จะพูดคุยกันว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ 

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ชัยวุฒิ ย้อนถามกลับสื่อว่า คงต้องไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ แต่อย่างไรตนอยู่กับ 3 ป. และตนคิดว่าทุกคนก็อยู่กับ 3 ป. อยู่ด้วยกันทำงานด้วยกันเป็นทีม 

เมื่อถามว่า กรณีที่ลูกพรรคพลังประชารัฐออกมาระบุเอง ว่าชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ขายไม่ได้แล้วนั้น จำเป็นต้องมีการพูดคุยกันในพรรคหรือไม่ ชัยวุฒิ กล่าวว่า แต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเอง จะไปบังคับความคิดคนอื่นไม่ได้ ถ้าไม่พอใจก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ แต่พรรคจะทำอย่างไรต่อไปก็ต้องมาดูกันต้องแยกระหว่างความเห็นส่วนตัวกับความเห็นพรรค ซึ่งทุกก็มีปัญหาหมด ก็จะมีคนเห็นต่างกันบ้าง "ประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการ เข้าใจไหม ก็ให้สิทธิทุกคนพูดเต็มที่อยู่แล้วพรรคนี้"

เมื่อถามถึงกรณีที่ ฟิล์ม รัฐภูมิ มาติดตาม ชัยวุฒิ จะเป็นสัญญาณการย้ายพรรคหรือไม่ ชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ


จี้ธนาคารปรับปรุงระบบป้องกันฉ้อโกงออนไลน์

ชัยวุฒิ กล่าวถึงแนวทางการฉ้อโกงประชาชนทางช่องทางออนไลน์ ที่มิจฉาชีพมีการเปลี่ยนรูปแบบ ว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มีการเข้มงวดและรับแจ้งความผู้เสียหายตั้งแต่เดือนมีนาจนถึงปัจจุบันกว่าแสนคดี เสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยมีการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินคดีช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมถึงการเพิ่มมาตรการป้องกันการโอนเงินไปยังบัญชีม้า หากมีการพบว่ามีการโอนเงินผิดปกติจะต้องมีการระงับโดยจะมีการกำหนดมาตรการร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการป้องกันการหลอกลวง โดยใช้ระบบป้องกันอัตโนมัติถ้าเห็นว่ามีพฤติกรรมผิดปกติในการโอนเงินไปต่างประเทศไปต่างประเทศหรือโอนเงินจำนวนมากๆ บ่อยๆ จึงอยากจะให้มีมาตรการหยุดการโอนเงิน หรือหยุดบัญชีม้าไม่ให้ทำงาน และวิธีป้องกันสุดท้ายคือการแจ้งเตือนประชาชนผ่านระบบต่างๆก่อนโอนเงินคืนก่อนโอนเงินควรจะมีการแจ้งเตือน เพื่อยืนยันว่าใช่เจ้าของบัญชีหรือไม่ หรือ ระบบโมบายแบงค์กิ้งโดนรีโมทควบคุมเครื่องให้โอนเงินให้โอนเงิน โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง จะหารือให้ธนาคารทุกแห่งออกแบบระบบการป้องกันการถูกดูดข้อมูลหรือฟิตชิ่ง ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ธนาคารทุกแห่งจะต้องไปปรับปรุงระบบ 

ส่วนที่กังวลว่าอาจจะมีข้อกฎหมายไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในการป้องกันนั้น ชัยวุฒิ กล่าวว่าทางกฎหมายไม่ใช่ประเด็น มันเป็นเรื่องเทคโนโลยี และเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยจะต้องอัพเดทระบบข้อมูลให้มีระบบไซเบอร์ป้องกันความปลอดภัย เพราะถ้าปล่อยให้ประชาชนโดนดูดเงินคนจะไม่กล้าใช้ระบบโมบายแบงค์กิ้ง และจะทำให้ส่งผลกระทบทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิดัล ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาในต่างประเทศก็ใช้วิธีการปรับปรุงระบบระบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์เข้ามาช่วยดู ที่สำคัญสื่อมวลชนจะต้องช่วยประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารอย่าไปหลงเชื่อแก๊งมิจฉาชีพที่บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้วให้เอาเงินไปตรวจสอบหรือหลอกให้กดลิงค์ต่างๆอ่างและหลอกให้ดูดเงินไป