ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนเริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุด วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ลงนามในเอกสารเพื่อรับรองเอกราชแก่โดเนตสค์และลูฮันสค์ของยูเครน ให้เป็นสาธารณรัฐและไม่อยู่ภายใต้อำนาจของยูเครนอีกต่อไป ก่อนจะส่ง “กองกำลังรักษาสันติภาพ” เขาไปยังดินแดนทางตะวันออกของยูเครนแล้ว

โดเนตสค์และลูฮันสค์ประกาศว่าตนเองเป็นสาธารณรัฐที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของยูเครน โดยกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในโดเนตสค์และลูฮันสค์ต่อสู้กับกองทัพยูเครนมาตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้การให้ความสนับสนุนโดยรัสเซีย ซึ่งมีความใกล้ชิดกันในทางชนชาติกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน

ในตอนนี้ รัสเซียได้ส่งกองกำลังเข้าไปยังโดเนตสค์และลูฮันสค์ โดยอ้างว่ากองกำลังดังกล่าวจะ “ทำหน้าที่รักษาสันติภาพ” ในดินแดนทั้งสอง ในขณะที่ โวโลโดเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนกล่าวหาว่า รัสเซียได้ละเมิดอำนาจอธิปไตของยูเครนอย่างจงใจ โดยก่อนหน้านี้ เซเลนสกีระบุว่ายูเครนจะไม่ตอบโต้การยั่วยุใดๆ จากทางรัสเซีย ยกเว้นแต่รัสเซียทำการรุกรานยูเครน

เซเลนสกีแถลงออกทางโทรทัศน์ของยูเครนเมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.) ว่า “เราไม่กลัวใครและอะไรทั้งนั้น เราไม่ได้ติดค้างใคร และเราจะไม่ยอมยกอะไรให้แก่ใครทั้งนั้น” ก่อนที่จะเรียกร้องไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้มีการประชุมโดยด่วนต่อประเด็นการประกาศรับรองเอกราชให้แก่โดเนตสค์และลูฮันสค์โดยรัสเซีย และการส่งกองทัพที่รัสเซียอ้างว่าเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามายังยูเครนตะวันออก

ทั้งนี้ ปูตินได้กล่าวในที่การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซียว่า ยูเครนในปัจจุบันถูก “สร้างขึ้น” โดยอดีตโซเวียตรัสเซีย ก่อนจะระบุว่าดินแดนดังกล่าวเป็น “แผ่นดินอันเก่าแก่ของรัสเซีย” ก่อนจะกล่าวอ้างว่า รัสเซีย “ถูกปล้น” แผ่นดินดังกล่าวไปเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 2534 ก่อนจะกล่าวหาว่ายูเครนเป็น “อาณานิคมสหรัฐฯ” ที่ถูกบริหารงานโดยรัฐบาลหุ่นเชิด และประชาชนในยูเครนต่างตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากจากการปกครองของรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบัน

สหรัฐฯ ได้ทำการประณามปูตินในทันทีหลังจากที่เอกสารดังกล่าวได้รับการลงนามเพื่อประกาศเอกราชโดเนตสค์และลูฮันสค์ ทั้งนี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อห้ามชาวสหรัฐฯ ทำการลงทุนใหม่ใดๆ ตลอดจนกิจกรรมด้านการค้าและการเงินในดินแดนที่ถูกแบ่งแยกออกไปจากยูเครน ทั้งนี้ สำนักประธานาธิบดีของทำเนียบขาวระบุว่า สหรัฐฯ พร้อมคว่ำบาตรรัสเซียทันที "หากรัสเซียบุกยูเครนไปมากกว่านี้"

ในขณะที่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรระบุว่า การกระทำของรัสเซียเป็น “การละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพของดินแดนยูเครนอย่างโจ่งแจ้ง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยจอห์นสันกล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็น “ลางร้ายและสัญญาณที่มืดมน” ในขณะที่ ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักระบุว่า สหราชอาณาจักรจะออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในวันนี้ (22 ก.พ.)

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์ย้ำว่า สหภาพยุโรปพร้อม “ตอบรับด้วยความเป็นเอกภาพ ความมั่นใจ และความแน่วแน่อันเป็นหนึ่งเดียวกับยูเครน” ในขณะที่ สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียระบุว่า การยกกองทัพของรัสเซียเข้าไปยังดินแดนตะวันออกของยูเครนนั้นเป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้ ไร้เหตุผล ไร้การรับรอง… (และ) การรักษาความสงบเป็นเรื่องไร้สาระ”

การประกาศรับรองเอกราชให้แก่โดเนตสค์และลูฮันสค์ของรัสเซีย เกิดขึ้นหลังจากที่มีกองกำลังของรัสเซียกว่า 150,000 นายกำลังล้อมรอบยูเครนอยู่ ส่งผลให้ชาติตะวันตกกล่าวหาว่ารัสเซียมีความพยายามในการรุกรานยูเครน โดยรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอด “พวกคุณไม่ต้องการให้เราเป็นเพื่อน แต่พวกคุณไม่จำเป็นต้องทำให้เราเป็นศัตรู” ปูตินกล่าวไปยังชาติตะวันตก

รัสเซียเสนอความต้องการของตนเองให้แก่พันธมิตรตะวันตกมาโดยตลอดว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติก (NATO) ต้องหยุดการขยายอำนาจเข้ามายังยุโรปตะวันออก และต้องห้ามมิให้ยูเครนเข้าร่วมองค์การดังกล่าว อย่างไรก็ดี รัสเซียระบุว่าตนถูกเมินเฉยต่อข้อเสนอดังกล่าวจากทางชาติตะวันตกมาโดยตลอด 

นอกจากนี้ ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย มีเจ้าหน้าที่สองรายกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการ “ควบรวม” โดเนตสค์และลูฮันสค์เข้ามายังรัสเซีย ในขณะที่ปูตินทำการระบุเพื่อค้านกับคำกล่าวดังกล่าวว่า “เราไม่ได้คุยในเรื่องนั้น เราจะไม่พูดคุยกันในเรื่องนั้น” ก่อนที่ปูตินจะส่ายหน้าเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียพูดถึงการควบรวมดินแดนที่ตนเองเพิ่งประกาศรับรองเอกราชไป “เรากำลังพูดถึงการรับรองความเป็นเอกราชของพวกเขาหรือไม่” ปูตินย้ำ

ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (24 ก.พ.) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย มีกำหนดการำูดคุยกันในประเด็นเตรียมการประชุมสูงสุดระหว่างไบเดนกับปูตินในอนาคต ท่ามกลางบรรยากาศที่ทั่วโลกจับตามายังวิกฤตยูเครนว่าจะจบลงอย่างไร

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-60468237

https://apnews.com/article/russia-ukraine-joe-biden-boris-johnson-europe-emmanuel-macron-2b7c2949ae3168effce9d0cb2584bb32?fbclid=IwAR1mjdI8GoxdnvHan0WfcoFjKGv_hcKHvtX7IrzO1LyFFkw9UCzfE2rjQFo