ไม่พบผลการค้นหา
มิเชล บาชาเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนประจำสหประชาชาติ เดินทางเยือนประเทศจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีการละเมิดสิทธิชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ทำให้เกิดความกดดันจากชาติตะวันตกที่ต้องการให้สหประชาชาติรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ หลังประเด็นการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ถูกแช่แข็งนานนับปี

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 พ.ค.) มิเชลได้ให้คำสัญญาต่อสื่อมวลชนว่า จะติดตามรายงานการละเมิดสิทธิ์ในประเทศจีน และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในกรุงปักกิ่งทบทวนมาตรการเฝ้าระวังการก่อการร้ายต่อชาวอุยกูร์ นอกจากนี้ เธอยังถูกเรียกร้องให้พูดถึงกรณีการสูญหายของชาวอุยกูร์อีกด้วย แต่ด้วยระเบียบทางการทูตของสหประชาชาติเอง ทำให้มิเชลไม่ได้เปิดเผยรายงานการเยือนประเทศจีนในครั้งนี้ทั้งหมด ส่งผลให้ตัวแทนรัฐบาลและหลายฝ่ายของชาติตะวันไม่พอใจอย่างยิ่ง

สหรัฐฯ ได้ให้ความเห็นว่า การเยือนจีนครั้งนี้ของมิเชลถูกควบคุมและบงการโดยทางการจีน ในขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ประกาศกดดันทางการจีนให้เร่งมือหยุดการใช้ความรุนแรงในซินเจียง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกกักขังที่ต้องโทษอย่างไม่เป็นธรรม

ด้านนักเคลื่อนไหวหลายคนกล่าวว่า มิเชลเองก็เป็นผู้รอดชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการชิลี แต่กลับกำลังหักหลังและทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรจากการเดินทางไปประเทศจีนในครั้งนี้

เรย์ฮาน อาซัต ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์และนักวิจัยอาวุโส ที่พี่ชายของเธอถูกขังอยู่ในซินเจียงได้ระบุว่า หน้าที่ของมิเชล ในฐานะข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน คือการแสดงให้เห็นว่านานาชาติพร้อมที่จะต่อสู้ให้กับผู้ที่ได้รับความไม่เป็นธรรม รวมถึง โซฟี ริชาร์ตสัน ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชน Human Right Watch ในจีน ได้เรียกร้องให้มิเชล เปิดเผยรายงานต่อสาธารณชนในทำนองเดียวกัน

ดูเหมือนว่าการเรียกร้องให้มิเชลเปิดเผยรายงานการเยือนประเทศจีนต่อสาธารณะในครั้งนี้ จะเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองไปทั่วยุโรป เพราะทั้งกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร (FCDO) และ กระทรวงการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ต่างออกแถลงการณ์ตอบสนองให้มีรายงานการเยือนประเทศจีนของมิเชลในครั้งนี้ต่อสาธารณะเช่นกัน

ในส่วนของทางการจีนได้กล่าวหาว่า ทั้งสหราชจักรและสหรัฐฯ สมรู้ร่วมคิดกันวิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน และรัฐบาลจีนยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์และการใช้ความรุนแรงต่อชาวอุยกูร์อย่างต่อเนื่อง โดยทางการจีนระบุว่าข้อกล่าวหานี้เป็น “การโกหกแห่งศตวรรษ” 

นอกจากนี้ ทางการจีนได้ชี้แจงว่า การเยือนประเทศจีนของมิเชลในครั้งนี้ เป็นโอกาสให้ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนประจำสหประชาชาติได้สังเกตการณ์ และได้เห็นความเป็นจริงในซินเจียงด้วยตาของเธอเอง อย่างไรก็ดี การเยือนซินเจียงของมิเชลสร้างความกังวลให้แก่นักเคลื่อนไหวที่เกรงว่านี่อาจเป็นการฉวยโอกาสเพื่อทำให้นโยบายชวนเชื่อของรัฐบาลจีนน่าเชื่อถือขึ้น

ทั้งนี้ สำนักข่าว The Guardian ได้รับการติดต่อจากสำนักงานของมิเชลเพื่อพูดคุยถึงการเยือนประเทศจีนในครั้งนี้ โดยยังไม่แน่ชัดว่ามีการพูดคุยอะไรบ้างระหว่างการพบปะของมิเชลกับเจ้าหน้าที่ในจีน


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/jun/02/west-demands-publication-of-uns-long-awaited-xinjiang-report?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR1MJW8dS5WDbtCA73Y0kg8AHeMDpkbcUtWp_yljU0Krxsr4Tnuag07bcZE