นาซาตำหนิโครงการทำลายดาวเทียมในอวกาศของอินเดีย เพราะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้สถานีอวกาศนานาชาติชนเศษดาวเทียมมากขึ้น
จิม ไบรเดนสไตน์ ผู้บริหารองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา กล่าวว่า โครงการทำลายดาวเทียมของอินเดียเป็นสิ่งที่แย่มาก เนื่องจากทำให้เกิดขยะอวกาศบริเวณจุดไกลสุดจากโลกจนไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS นอกจากนี้ ภารกิจลักษณะนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นในการบินอวกาศในอนาคตอีกด้วย ซึ่งล่าสุดอินเดียถือเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่ทดสอบอาวุธทำลายดาวเทียม หรือ ASAT ตามหลังสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน โดยเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ออกมาประกาศว่า การทดสอบอาวุธทำลายดาวเทียมจะทำให้อินเดียขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศในที่สุด
ก่อนหน้านี้ ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนว่าการทดสอบของอินเดียจะสร้างขยะอวกาศ แต่ทางการอินเดียกลับยืนยันว่า การทดสอบอาวุธทำลายดาวเทียมเกิดขึ้นในวงโคจรชั้นในของโลก ที่ความสูง 300 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ขยะอวกาศใด ๆ ที่เกิดขึ้นจะย่อยสลายและตกลงสู่พื้นโลกภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เท่ากับว่าจะไม่สร้างขยะอวกาศ และเคลื่อนตัวไปชนกับสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ได้ ซึ่งไบรเดนสไตน์กล่าวว่า สิ่งที่อินเดียแถลงเป็นเรื่องจริง ถือเป็นเรื่องดีที่การทดสอบอยู่ในวงโคจรชั้นในของโลก และขยะอวกาศเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไป
อย่างไรก็ตาม โครงการของอินเดียเพิ่มความเสี่ยงที่เศษซากดาวเทียมจะกระจัดกระจายมาชน ISS ถึงร้อยละ 44 ในช่วง 10 วันของการทดสอบการทำลายดาวเทียม และนาซาพบว่ามีขยะอวกาศอยู่ในวงโคจรกว่า 400 ชิ้น มี 60 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 10 เซนติเมตร ในจำนวนนี้ มี 24 ชิ้น ที่เสี่ยงอันตรายกับ ISS อย่างมาก แต่ทางไบรเดนสไตน์ก็ยังยืนยันว่า ISS ยังคงปลอดภัย ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ