วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' กรณี "ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.มีโครงการใดเร่งด่วนที่สุดที่ควรทำทันที" ว่า ปัญหาที่คนกรุงเทพฯต้องการให้แก้ทันทีคือปัญหาที่คนกรุงเทพฯ แก้เองไม่ได้ 1.ปัญหากลิ่นขยะ จากศูนย์กำจัดขยะที่ อ่อนนุช เขตประเวศ ต้องเร่งแก้ไขระบบบำบัดกลิ่น ทำให้กลิ่นเหม็นรบกวนคนเป็นแสนคน 35 หมู่บ้านในเขตประเวศ เขตสวนหลวง บางส่วนของเขตลาดกระบังได้มีชีวิตที่ดี
2.ไซต์ก่อสร้างต่างๆ ที่คนกรุงเทพฯ เสียชีวิตจากการขับรถชนแบริเออร์ ขับรถแล้วตกกับหลุม ล้มคว่ำ ตนคิดว่าไซต์ก่อสร้างที่รบกวน รบกวนพื้นผิวถนนและทางเท้า ต้องถูกกำหนดให้ชัดจะสร้างเสร็จเมื่อไร ระหว่างการก่อสร้างต้องทำพื้นผิวชั่วคราวให้คนกรุงเทพฯ ปลอดภัยจากการเดินเท้าและขับรถ
3.โรงงานต่างๆ ปล่อยควันพิษรบกวนการหายใจของคนกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ กทม.ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ผู้ว่าฯต้องเตือน ถ้าเตือนไม่ฟัง ต้องปิดชั่วคราวและอาจปิดจนกว่าคุณภาพอากาศจะดีขึ้น และเรื่องสุดท้ายที่ทำเร่งด่วน ไม่พ้นการเข้าไปคลี่คลายค่ารถไฟฟ้าแพง บันทึกการประชุมการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มืดลับจะต้องถูกเปิดเผย และจะต้องแก้ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพงที่มาจากการจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ระหว่างสายระหว่างสีต่างๆ นี่คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องทำ คือแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนที่แก้เองไม่ได้
เมื่อถามว่า ในภาวะที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจจำกัดจะประสานหน่วยงานต่างๆให้ขับเคลื่อนอย่างไร วิโรจน์ กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องประสาน เพราะผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจก็ต้องประสาน แต่ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้ประสานด้วยตนเอง พยายามจะใช้กลไกข้าราชการในการขับเคลื่อน เพราะเกรงว่าจะเกรงใจ แต่ถ้าเกิดเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง ตนคิดว่าผู้ว่าฯ กทม.สามารถขับเคลื่อนได้ สิ่งที่สำคัญคือระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานกรุงเทพฯ 7-8 ปีที่ผ่านมา แทนที่คนจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานจะรับใช้ประชาชน ทำงานให้ประชาชน กลับถูกข้อสงสัยว่าต้องทำงานตามเจ้านาย ถ้าระบบแบบนี้ยังคงมีอยู่ข้าราชการจะมีกำลังใจการทำงานหรือไม่ ข้าราชการดีๆ กลัวถูกจับผิด เมื่อประชาชนร้องเรียนมาก็มาดูว่าติดข้อกฎหมายหรือไม่ และนำข้อติดขัดทั้งหมดทั้งที่ไม่ได้ติดขัดแต่กลัวคนมาฟ้อง ก็นำข้อติดขัดมาปฏิเสธแก้ปัญหาให้ประชาชน
"ระบบธรรมาภิบาลต้องนำปัญหาของประชาชนมาเป็นตัวตั้ง ส่วนติดอะไรที่กังวลต้องคลี่คลายและแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งจะทำให้คนกรุงเทพฯ ถูกเอาใจใส่ในฐานะที่คนเท่ากัน" วิโรจน์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง